รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์บูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และโรงพยาบาลชุมชนที่พร้อม รวมกว่า 300 แห่ง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์บูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และโรงพยาบาลชุมชนที่พร้อม รวมกว่า 300 แห่ง
ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคอง โรคพาร์กินสัน นอนไม่หลับ ผู้รับบริการ 35,495 ครั้ง ร้อยละ 70 อาการดีขึ้น เกือบทั้งหมดไม่พบอาการข้างเคียง
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์คิท อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์แก่แพทย์ และเภสัชกร เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 150 คน
พร้อมเผยแพร่ในระบบวิดีโอทางไกลไปยังเขตสุขภาพที่ 7 ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ใช้กัญชาทางการแพทย์เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย อย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพิ่มทางเลือกประชาชน เพิ่มการเข้าถึงอย่างเหมาะสมและปลอดภัย การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมจะเกิดประโยชน์ต่อการดูแลรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
โดยเปิดคลินิกบริการกัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis Clinic) บูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม ขณะนี้มี 311 แห่ง ผู้รับบริการ 14,236 ราย รวม 35,495 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง โรคพาร์กินสัน ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษา นอนไม่หลับ เป็นต้น
ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นร้อยละ 70 มีการติดตามอาการผู้ใช้สารสกัดกัญชา ไม่พบอาการข้างเคียงถึงร้อยละ 98.07 จากการดำเนินงานที่ผ่านมา หลายแห่งมีนวัตกรรมที่ดี เช่น มีสายตรงรับปรึกษาเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เชื่อมระบบบริการกับการดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง มีระบบลงทะเบียนออนไลน์สำหรับผู้สนใจรับคำปรึกษา
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แก่บุคลากรทางการแพทย์ให้มีความทันสมัย รวมทั้งบูรณาการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดทำเป็นหลักสูตรและดำเนินการอบรม “การใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์” และได้ปรับหลักสูตรใหม่ให้ทันสมัยสอดคล้องกับผลวิจัยและประสบการณ์การใช้ที่มีมากขึ้น
เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีความรู้ ความเข้าใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี 2562 ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้การรับรองแล้ว 11,747 คน สำหรับการจัดตั้งคลินิกให้บริการกัญชาทางการแพทย์ จะดำเนินการในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ได้รับใบอนุญาต ยส.5 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุคลากรผ่านการอบรม ปฏิบัติตามคู่มือระบบบริการ (Service Plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ และมีระบบการติดตามอาการ เพื่อให้การจ่ายยา/ สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ มีความปลอดภัย