กรมวิทย์ฯ พัฒนาชุดตรวจแอนติบอดีเชื้อโควิด 19 รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด

พร้อมโชว์ศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในการต่อสู้กับ COVID-19 และการตรวจ COVID-19 ในบรรจุภัณฑ์และอาหาร

6 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว “แล็บไทย Fight COVID-19 โดยมีการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของ COVID-19 ว่า

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัย ด้วยเทคนิค Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจมาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ พร้อมทั้งดำเนินงานตามนโยบาย “1 แล็ป 1 จังหวัด 100 ห้องปฏิบัติการ” รายงานผลใน 1 วัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรค COVID-19

โดยตอนนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองแล้ว 236 แห่งทั่วประเทศครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดเหลือเพียง 1 จังหวัดจะพัฒนาให้ตรวจได้ทั้งหมดสามารถรองรับการตรวจได้มากกว่า 20,000 ตัวอย่างต่อวัน (แบ่งเป็นศักยภาพการตรวจในกรุงเทพมหานคร 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และศักยภาพการตรวจในต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวันหรือ 835 ตัวอย่างต่อเขตสุขภาพ ปัจจุบันมีจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจสะสมรวม 1,217,873 ตัวอย่าง

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมวิจัยพัฒนาและผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สนับสนุนการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็วและทั่วถึง สร้างความมั่งคงด้านสุขภาพของประเทศไทย มีแหล่งผลิตชุดน้ำยาภายในประเทศ เพื่อการให้บริการตรวจคนไทย ตลอดจนสนับสนุนการคัดกรองเพื่อกักกันในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการควบคุมและป้องกันโรคภายในประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีชุดน้ำยาตรวจ Real-time RT-PCR สำหรับ COVID-19 รองรับไปตลอด ช่วงระยะเวลาการระบาดของ COVID-19 มีการสำรองชุดน้ำยาตรวจไว้ใช้กว่า 700,000 ตัวอย่า

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งชนิด IgM และ IgG เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 โดยใช้หลักการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา ด้วยวิธีอิมมูโนโครมาโตกราฟี ชนิดอ่านผลด้วยตาเปล่าจากตัวอย่างซีรัมพลาสมาและเลือดจากปลายนิ้ว

ซึ่งชุดตรวจนี้เป็นการตรวจคัดกรองเท่านั้นและจะให้ผลที่มีความแม่นยำในกรณีที่ใช้กับตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อมากว่า 15 วัน ทั้งนี้การทดสอบและการแปรผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์และควรตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสร่วมกับระดับแอนติบอดีเพื่อเพิ่มความไว ความจำเพาะและความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคโควิด 19


“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อนในบรรจุภัณฑ์และอาหาร โดยใช้ชุดน้ำยา DMSc COVID-19 Real-time RT-PCR Kit ซึ่งห้องปฏิบัติการได้ผ่านการเข้าร่วมแผนทดสอบความชำนาญการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ผลอยู่ในเกณฑ์ยอมรับและพร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ในตัวอย่างทุเรียนแช่แข็งและบรรจุภัณฑ์ในราคา 7,000 บาท/ตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาการตรวจประมาณ 3 วันทำการ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมาก เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคส่วนอาหารทะเลแช่แข็งชนิดอื่นๆ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดสอบความใช้ได้ของวิธีซึ่งจะเปิดให้บริการในลำดับต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

Written By
More from pp
โออาร์ ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร จัด “โครงการไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์ ครั้งที่ 5” จ.กาญจนบุรี ร่วมสร้างโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด...
Read More
0 replies on “กรมวิทย์ฯ พัฒนาชุดตรวจแอนติบอดีเชื้อโควิด 19 รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด”