“รมว.ศธ.” เร่งยกระดับอาชีวะฝั่งอันดามัน ย้ำควบรวมส่งผลดี “นร.-ครู-ชุมชน” แน่นอน

“รมว.ศธ.” ลุยอาชีวะภาคใต้ฝั่งอันดามัน เร่งวางแผนยกระดับสู่ความเป็นเลิศ รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ และย้ำการควบรวมโรงเรียนต้องเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ชี้หากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเห็นภาพชัดเจนตรงกันเชื่อการควบรวมทำง่ายขึ้น และขอให้มั่นใจ “นักเรียน-ครู-ผู้บริหาร-ผู้ปกครอง” จะมีชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นแน่นอน
เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล)

โดยมี นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียนนักศึกษา ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการยกระดับการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ด้วยการยกระดับและสร้างมาตรฐานการอาชีวศึกษาให้มีความเป็นสากล พร้อมทั้งเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา

อีกทั้ง จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม และพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา และเตรียมความพร้อมให้เด็กอาชีวะ ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัย ตลอดจนปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจะต้องมีแผนการยกระดับที่ชัดเจน

อาทิ การวางแผนด้านงบประมาณ, การสำรวจอัตราครูและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและดึงความโดดเด่นออกมาพัฒนาให้มีความเป็นเลิศ

โดยขอให้ผู้บริหารการศึกษาในจังหวัดภูเก็ต เพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบในการยกระดับการศึกษาทั้งจังหวัด และขอให้กล้าปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องของแนวคิด และการพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน เพราะในอนาคตอาจจะต้องยุบบางสาขา และคัดเลือกสาขาวิชาที่มีความพร้อม มาสร้างความเป็นเลิศของวิทยาลัย

รวมถึงการส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีศักยภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาของผู้เรียน

ส่วนการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีนั้น ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งและเข้มข้น ให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการของวิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต วิทยาลัยเทคโนโลยีภูเก็ต อาทิ แผนกวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว, แผนกวิชาการตลาด, แผนกวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเฉพาะทาง เป็นต้น

ในปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา จากเดิมร้อยละ 47.95 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.10 อันเนื่องมาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังได้กล่าวถึงแผนการควบรวมโรงเรียนด้วยว่า ถือเป็นเรื่องจริงจังที่ต้องดำเนินการ ซึ่งบุคคลที่รู้เรื่องพื้นที่มากที่สุด ก็คือผู้อำนวยการเขตพื้นที่ รวมถึงเรื่องของความเหมาะสมว่าจะทำการควบรวมโรงเรียนอย่างไร

“ผมอยู่กระทรวงศึกษามา 1 ปีแล้ว ผมมั่นใจแล้วว่า เรามีความจำเป็นต้องจริงจังในการผลักดันเรื่องควบรวมโรงเรียนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” นายณัฏฐพล กล่าว

ส่วนโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก นายณัฏฐพล ย้ำว่า เราจะต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยว่า การควบรวมโรงเรียนแล้วภาพจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ตนกำลังดูพื้นที่ตัวอย่างอยู่ว่า เราจะไปลงในพื้นที่ใด เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นภาพการควบรวมโรงเรียนมีความชัดเจนขึ้น

สำหรับเรื่องโรงเรียนดี 4 มุมเมืองนั้น ขณะนี้กระทรวงศึกษามีนโยบายในการพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้อย่างไรบ้าง นายณัฏฐพล กล่าวว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่ในหลายโรงเรียนและพบเห็นว่า ในทุกๆ จังหวัดนั้น โรงเรียนดีชั้นนำส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง โดยเด็กๆ ก็มีความตั้งใจ และพยายามเข้ามาเรียน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเรื่องค่านิยม

ดังนั้นหากเราสามารถทำให้ระดับมัธยมโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กันมีคุณภาพมากขึ้นได้ ตนมั่นใจว่าเด็กก็จะไม่เข้ามาเรียนโรงเรียนในเมือง ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำให้โรงเรียนในเมืองแออัด เพราะหากเกิดความแออัดจะทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง
ขณะเดียวกันโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ ตนก็มีความต้องการให้มีขนาดลดลง

ซึ่งสาเหตุของการลดขนาดลงนั้น มีเหตุผลหลายประการ โดยประการแรกการลดขนาดลง เพราะเรากำลังมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น มุ่งสู่การศึกษาสายอาชีพ หรือสายอาชีวศึกษา ซึ่งแนวทางนี้ก็จะมีเหตุผลที่ทำให้ขนาดโรงเรียนลดลงไปโดยปริยาย

ประการที่สอง การลดขนาดโรงเรียนลง เพราะการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่ 3,000-4,000 คน จากประสบการณ์ที่ตนได้สัมผัสมานั้น เราสามารถทำได้ดีกว่าเดิมถ้าในโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนประมาณ 1,500-2,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขจำนวนนักเรียนที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ

“นอกจากนี้ ยังทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นหากโรงเรียนมีคุณภาพจริงๆ เด็กก็จะไม่ต้องไปเรียนกันในเมือง หรือมาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้ปริยาย” นายณัฏฐพล กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า หากโรงเรียนดีมัธยม 4 มุมเมือง สามารถแสดงตัวตนได้ในทุกๆ จังหวัด และมีโรงเรียนระดับประถมที่อยู่รอบๆ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาไปด้วย โดยจะเป็นจุดวงกลมรอบโรงเรียนระดับมัธยม เพื่อเป็นการกระจายความเจริญทางด้านการศึกษาออกไปโดยรอบ

“จริงๆ แล้ว ถ้าหากว่ามองเห็นการเชื่อมต่อตรงนี้ พอโรงเรียนระดับประถม ได้เริ่มเห็นการพัฒนาของโรงเรียนระดับมัธยมในส่วนต่างๆ ก็จะทำให้การควบรวมโรงเรียนเกิดได้ง่ายขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการควบรวม จะถูกพัฒนาเป็นบ้านพักครู และบ้านพักข้าราชการได้ ซึ่งจะทำให้มีคอมมูนิตี้ (community) หรือมีชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น การพัฒนาก็จะกระจายออกไป ผมยังมองต่อถึงการยกระดับรายได้ของแต่ละจังหวัดได้ ซึ่งวิธีที่จะยกระดับได้จริงๆ นั่นก็คือเรื่องการศึกษา” นายณัฏฐพล กล่าว

ขณะเดียวกัน นายณัฏฐพล ยังเน้นย้ำด้วยว่า การลดขนาดโรงเรียนขนาดใหญ่ไม่ได้มีการกำหนดแน่นอนเสมอไปว่าโรงเรียนใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียน 4,000-5,000 คนแล้ว จะต้องลดลงมาเหลือ 1,500-2,000 คน ซึ่งเราไม่ได้มีการกำหนดในลักษณะดังกล่าว เรื่องนี้แล้วแต่ในเขตพื้นที่ แต่จำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นระดับตัวเลขที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ


“ผมได้พูดคุยไปแล้วว่า ให้ท่านผู้เกี่ยวข้องไปดูถึงความเหมาะสม แล้วต้องไปผูกกับอาชีวะ เพราะทั้งสองส่วนก็เป็นของกระทรวงศึกษาอยู่ดี แต่เราต้องมาดูว่า เราต้องการทำอะไรกับการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นผู้ตอบได้ ซึ่งทางเขตพื้นที่ต้องร่วมกันกับศึกษาธิการจังหวัดก็จะช่วยตอบได้ เพราะจะเหมือนกับการทำ Master Plan ทางการศึกษาของแต่ละจังหวัด ซึ่งน่าจะเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อผมได้มีโอกาสไปลงพื้นที่ ขณะนี้ผมได้แบ่งงานให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษา ลงไปช่วยในการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

ฉะนั้นภาพที่นำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะเป็นภาพที่ชัดขึ้นว่า เราต้องการจะทำอะไรตรงไหน และจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร ส่วน ครม.ก็จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ


ทั้งนี้ นายณัฏฐพล บอกอีกว่า ขณะนี้การควบรวมโรงเรียนต้องทำทุกๆ ภาคพร้อมกัน เพราะทุกวันนี้ เรากำลังปล่อยให้การศึกษาไม่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของงบประมาณ หรือการบริหารจัดการอะไรก็แล้วแต่ แต่วันนี้เราต้องมาวางหลักกันใหม่

“ผมเองก็จะลงมาดูในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นตัวอย่างให้คณะพี่เลี้ยง สามารถมองเห็นภาพว่า ถ้าหากว่าแนวคิดที่ควรจะเป็นคืออะไร โดยผมจะเริ่มต้นดูที่อาชีวศึกษา ดูระดับมัธยม และดูระดับประถม โดยต้องมาดูจริงๆ ถึงจะเห็นภาพ ผมเองก็ไม่ได้ดูทั้งหมด แต่ผมก็ให้ทีมทำงานที่เป็นคณะพี่เลี้ยงมาร่วมกันทำงานกับศึกษาจังหวัด และเขตพื้นที่” นายณัฏฐพล กล่าว

ขณะเดียวกัน นายณัฏฐพล ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านเกาะนาคา จังหวัดภูเก็ต เพื่อพบปะกับผู้บริหาร ครู และนักเรียน ทั้งยังตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนี้ ยังมีครูไม่ครบชั้น และขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน จึงใช้การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)


“หลังจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะหาแนวทางการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมส่งเสริมให้เด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเกาะนาคา ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยจะทำการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเรียนการสอน พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา” นายณัฏฐพล กล่าว

โรงเรียนบ้านเกาะนาคาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเกาะนาคา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน จำนวน 31 คน พร้อมทั้งครูประจำการและครูอัตราจ้าง 4 คน โดยมีนางน้ำอ้อย ชูช่วย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

 

Written By
More from pp
ทรูไอดีส่ง ชินจังเดอะมูฟวี่ 12 ตอน เอาใจคนรักชินจัง   
การ์ตูนช่วงเย็นที่ยังอยู่ในใจหลาย ๆ ชินจังจอมแก่น ความน่ารัก ซุกซนและเด็กดื้อในตำนาน ทรูไอดีรวบรวม “ชินจัง เดอะ มูฟวี่” มาให้แฟนๆ ชินจังจอมแก่งได้ดูกันแบบยาว ๆ  ถึง  12 ตอน เอาใจคนรักชินจัง  
Read More
0 replies on ““รมว.ศธ.” เร่งยกระดับอาชีวะฝั่งอันดามัน ย้ำควบรวมส่งผลดี “นร.-ครู-ชุมชน” แน่นอน”