ผักกาดหอม
อยู่เพื่อเรียนรู้กันไป…
ไทยโพสต์ ๒๕ ปี…เข้าเบญจเพสพอดิบพอดี
เทียบแล้วก็รุ่นราวคราวเดียวกับคนรุ่นใหม่ ที่จัดชุมนุมกันอยู่ในช่วงเวลานี้
คน GEN Z ลืมตามาดูโลกหลังปี ๒๕๔๐
ยุคที่เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว
อยู่ในสังคมดิจิทัล สื่อสารไร้สาย
อยากได้คำตอบมากขึ้น
ต้องการเหตุผลมากขึ้น
ยอมรับวัฒนธรรมหลากหลายขึ้น
แต่มีความอดทนต่ำ ไฟดับเน็ตหลุดคือหายนะของชีวิต
ปุถุชน ล้วนมี ๒ มุม กันทุกคน อยู่ที่ “เลว-ดี” ด้านไหนแสดงออกมากกว่ากัน
๒๕ ปี ไทยโพสต์ผ่านมาแล้วหลายม็อบ
เหลือง แดง กปปส. ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่ว่า…ม็อบสร้างความขัดแย้ง ประชาชนแตกเป็น ๒ ฝ่าย แบ่งขั้วเอา-ไม่เอา ทักษิณ วันนี้ดูจะเจือจางไป
แดงมารวมกับเหลืองปนกับ กปปส. เป็นปรากฏการณ์ ที่พบเห็นบ่อยขึ้น
พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ใหม่ เอา-ไม่เอาสถาบัน
และเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า เกิดความแตกแยก แตกต่าง มากกว่าเอา-ไม่เอาทักษิณ
ในอัตราเร่งที่เร็วและรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว!
เมื่อชนวนถูกจุดแล้ว และยังมองไม่เห็นว่าไฟจะมอดลงได้อย่างไร ได้เกิดคำถามว่า แล้วจะเป็นไงต่อ จะจบแบบไหน
ยังตอบยาก!
เพราะเมื่อคนรุ่นใหม่ แสดงออกอย่างรุนแรง ท้าทายความเชื่อความศรัทธาคนรุ่นเก่า
โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เลยคำว่าปฏิรูป
คือ “ล้มล้าง”
วันนี้…จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอกับปรากฏการณ์ตอบโต้กลับ จากสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
เสื้อเหลืองถูกปลุกให้ตื่น!
การล้ำเส้นโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างรุนแรง และหยาบคายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือฟางเส้นสุดท้าย
ฉะนั้นการที่เด็กๆ ตั้งคำถาม ม็อบเสื้อเหลืองออกมาทำไม ใครจ้างมา นายบังคับใช่หรือไม่
ก็อย่าไปตั้งคำถามกับคนอื่น
ให้ส่องกระจกดูพฤติกรรมของตนเอง ว่าทำอะไรลงไปบ้าง
ได้ใช้สมองคิดก่อนทำ ก่อนแสดงออกหรือไม่
หรือถูกฝังหัวมาแบบนั้น
คนรุ่นก่อนไม่ได้ล้าหลัง และใช่ว่าคนรุ่นใหม่จะมีความคิดนำสมัยเสมอไป
ถ้าม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ออกไป ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ตั้งธงล้มล้างสถาบัน
ก็ไม่มีเหตุผลที่ม็อบเสื้อเหลืองจะตื่นขึ้นมา
การเมืองเก่าไปใหม่มาเป็นเรื่องสุดแสนจะธรรมดา
ประยุทธ์ ไปใครจะมา ก็ดำเนินไปตามครรลอง
จบแค่นั้น!
แต่ที่ไม่จบเพราะพฤติกรรมทำลายล้าง นับวันยิ่งเลยเถิด
วันที่ม็อบ ๓ นิ้วชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ พร้อมกับสร้างสตอรีมารองรับว่า…
เปรียบดั่งไป “ทลายคุกบัสตีย์”
เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ คนรุ่นใหม่ของไทย ความจำสั้น จำไม่ได้ว่าประเทศไทยเพิ่งจะผ่านวิกฤติการเมืองเพราะมีรัฐบาลโคตรโกง เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
แต่กลับจดจำประวัติศาสตร์ต่างชาติ เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อนได้ขึ้นใจ
และนำมาเป็นกิมมิกในการเคลื่อนไหว
แล้วพบกับความย้อนแย้งในตัวเอง ปากบอกเปล่าล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แค่ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
แต่ลืมไปว่าการทลายคุกบัสตีย์ คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งก็คือการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่า…ใครก็ตามที่ยกเอาปฏิวัติฝรั่งเศสมาเป็นต้นแบบในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะโดยการปลูกฝังทางความคิดจาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” คนพวกนี้รู้ดีว่าสิ่งที่ตามมาคือการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
มิใช่การปฏิรูป!
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วยกมาอีกสักตัวอย่าง
กระหน่ำแชร์กันว่า จะทำการเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ อาหรับสปริง
ก็ไม่รู้เปลี่ยนจากไหนไปไหน
เพราะม็อบฮ่องกงถูกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวจนอยู่หมัด
อยากเป็นแบบอาหรับสปริง แล้วเรียนรู้หรือเปล่าว่า อาหรับสปริง จบแบบไหน
รัฐบาลเก่าถูกโค่น จาก ตูนิเซีย ไป อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน ซีเรีย อิรัก ฯลฯ
ลองนับดูกี่ประเทศตกอยู่ในภาวะ สงครามกลางเมือง อยู่ในขณะนี้
เศรษฐกิจพังพินาศ
ตายกันเกลื่อน
ประชาชนต้องอพยพทิ้งประเทศบ้านเกิด ไปทนทุกข์ในศูนย์อพยพประเทศที่สาม
แต่คนที่ได้ประโยชน์คืออเมริกา ที่เข้าไปเสี้ยมให้คนในชาติเหล่านี้ฆ่ากันเอง
ฉะนั้นการทำความเข้าใจกับโลกและเรื่องราวในบ้านเกิดของตัวเอง ในฐานะคนรุ่นใหม่ รุ่นที่ต้องการคำตอบมากขึ้น ต้องแสวงหาคำตอบให้ได้ชัดเจนก่อนจะแสดงท่าทีอะไรออกมา
ไม่ควรด่วนสรุปว่าทุกเรื่องต้องจบในรุ่นตัวเอง เพราะจะนำมาซึ่งความผิดพลาด
กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฮึกเหิม เชิญชวนร่วมลงชื่อปลดประติมากรรมแสง จำลองพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ ๙ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
“…ขอเรียกร้องให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปลดประติมากรรมแสง รัชกาลที่ ๙ ลง โดยเร็วที่สุด
เพื่อแสดงจุดยืนว่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเรามีความเป็นกลาง และ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
มิใช่เป็นของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น…”
เดือดร้อนอะไรกัน?
ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล และ อาจารย์กานต์ คำแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ร่วมกันออกแบบประติมากรรมแสงแดด เคยอธิบายถึงกลไกการออกแบบว่า แนวคิดมาจากการใช้หลักการของแสงที่กระทบวัตถุและปรากฏเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเวลา ๑๕.๕๒ น.
“ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙”
นั่นคือที่มาของประติมากรรม
ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเมือง
และไม่มีอะไรต้องแสดงจุดยืนว่าเป็นกลาง หรือเข้าข้างไหน
ครับ…หากไม่มีความคิดล้มล้าง ก็จะไม่คิดแบบนี้
แม้จะไม่มีการลงชื่อจริง
แต่ความจริงมีความคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วานนี้ (๒๑ ตุลาคม) ท่านทูตนริศโรจน์ เฟื่องระบิล โพสต์เฟซบุ๊ก Fuangrabil Narisroj
….เขียนตอบเด็กในทวิตเตอร์ที่บอกให้ผมไปหาหนังสือ The King Never Smiles กับ กงจักรปีศาจ มาอ่านเพื่อผมจะได้ตาสว่างขึ้น
หน็อย…ทำเป็นมาสอน เลยตอบไปว่าหนังสือ The King Never Smiles กับ กงจักรปีศาจ ได้อ่านมาก่อนเด็กบางคนเกิดเสียอีก!!!
แต่อ่านแล้วเราต้องค้นคว้า ดูข้อมูลอื่นประกอบ หนังสือ The King Never Smiles ฝรั่งคนเขียนเอาเรื่องซุบซิบนินทามาเขียนแบบมี bias ใส่สีตีไข่เพื่อหวังผลให้หนังสือหวือหวาล่อคนซื้อ
ส่วนกงจักรปีศาจก็เป็นมุมมองมิติเดียวที่ฝรั่งมอง ซึ่งมันก็มีมุมอื่นที่แย้งได้อีกเยอะ
แต่ไม่ว่าหนังสือไหนจะเขียนถึงท่านว่าอย่างไร ในฐานะปัญญาชน จักต้องไม่เชื่อทันที ต้องค้นคว้าหาข้อมูลอื่นประกอบด้วย
ที่สำคัญที่สุดต้องดูผลงานของท่านที่เป็นเชิงปฏิบัตินิยม (pragmatism) ให้ตกผลึกด้วย
ถ้ามองเห็นว่า ร.๙ ทรงงานหนักแค่ไหน ปชช.ได้ประโยชน์อย่างไร นั่นแหละคือคำตอบที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศถึงรักและพร้อมปกป้องพระองค์ท่าน!….
ก็อย่างที่บอกครับ คนรุ่นใหม่คือรุ่นคนที่อยากได้คำตอบในเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น แต่น่าเสียดาย โครงการพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ สามารถหาอ่านได้เป็นการทั่วไปในอินเทอร์เน็ต กลับละเลยที่จะอ่าน ไปฝังหัวกับเรื่องเท็จของฝรั่งแทน
ก็เพราะสาเหตุเดียว ไม่ชอบสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการล้มล้าง
หลังจากวันนี้เป็นต้นไป เมื่อฟางเส้นสุดท้ายขาดไปแล้ว และม็อบ ๓ นิ้วเป็นผู้ปลุกคนเสื้อเหลืองออกมา ก็อย่าโทษใคร
และเมื่อนายกฯ ประยุทธ์ เป็นผู้เริ่มถอยก้าวแรก เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดทางพูดคุยกัน ตอนนี้มีทางเลือกเพิ่ม แต่จะเลือกเดินหรือไม่
นั่นคือคำถามส่งไปยังม็อบ ๓ นิ้ว
ถ้าไม่คุยเพราะเป้าหมายอยู่เหนือนายกฯ ประยุทธ์…ก็เอาเป็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเลิกไปทุกฝ่ายสามารถออกมารวมตัวกันแสดงความเห็นได้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ตามระบอบประชาธิปไตย
เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน.