ผักกาดหอม
ยังเป็นที่คาใจกันอยู่
การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
หากเป็นไปตามที่ “ปานปรีย์” บอกว่าเพราะการพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทำให้การทำงานยากลำบากขึ้น ทำไมไม่แจ้งกับ นายกฯ เศรษฐา เสียก่อน
เพราะโผปรับ ครม.แพร่สะพัดมานานนับเดือนว่า “ปานปรีย์” จะเหลือตำแหน่งเดียวคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
มีเวลาถมเถที่จะพูดคุย
หรืออยากวัดใจ!
นี่คืออีกหนึ่งในสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้มีความซับซ้อนในแง่ของการตัดสินใจ
มีระดับการตัดสินใจที่สูงกว่านายกรัฐมนตรี
ธรรมชาติของการปรับคณะรัฐมนตรี หากไม่มีความจำเป็น คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะไม่ปรับให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ต้องมารับมือในภายหลัง
แต่ฟังสุ้มเสียงของนายกฯ เศรษฐาบางท่อนบางตอนแล้วรู้สึกแปร่งๆ
“…ยืนยันว่าผมไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัวกับรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง แต่ก็เข้าใจได้ว่าคงมีคนผิดหวังและสมหวังอย่างที่ผมบอก และเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องบริหารเรื่องของความคาดหวังและเรื่องของหน้าที่ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับคุณแพทองธาร…”
แม้จะเข้าใจได้ว่า นายกฯ เศรษฐา ต้องพูดคุยกับ “อุ๊งอิ๊ง” ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ก็สะท้อนถึงโครงสร้างพรรคเพื่อไทย ที่มีลำดับชั้นของการบริหารทับซ้อน ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง
แต่อยู่ที่ตัวบุคคล
ในวันที่ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อำนาจการตัดสินใจต่างๆ แทบไม่มี เพราะศูนย์กลางอำนาจขณะนั้นไปอยู่ที่ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ซึ่งก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” นั่นเอง
ต่างจากวันที่ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นหัวหน้าพรรคอย่างสิ้นเชิง
และตำแหน่ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็หายวับไปกับตา เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ฉะนั้นงานการเมืองทั้งหมด นายกฯ เศรษฐา จึงต้องหารือกับ “อุ๊งอิ๊ง”
หลายกรณีควรจะใช้คำว่า “ขออนุญาต”
เพราะการคุยกับ “อุ๊งอิ๊ง” ก็คือการคุยกับ “นักโทษชายทักษิณ” นั่นเอง
สายการบังคับบัญชาในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่สายการบังคับบัญชาเช่นที่พรรคการเมืองอื่นๆ ใช้กัน แต่เป็นสายการบังคับบัญชาของธุรกิจครอบครัว
การปรับคณะรัฐมนตรี นายกฯ เศรษฐา จึงไม่อาจทำโดยพลการได้
ต้องหารือกับลูกสาวเจ้าของบริษัท
สุดท้ายต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าของบริษัทอีกที
การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ “ปานปรีย์” จึงยังเป็นที่สงสัยกันว่า เป็นเพราะถูกถอดจากตำแหน่งรองนายกฯ แค่นั้นหรือ
ในอดีต หลายๆ รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้นั่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นรัฐบาลชวน หลีกภัย ๑ มีชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยไม่ได้นั่งควบเก้าอี้รองนายกฯ
เช่นเดียวกับรัฐบาลชวน ๒ มี “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว
หรือแม้แต่รัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น “กันตธีร์ ศุภมงคล” หรือ “ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” ก็นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเก้าอี้เดียว
เป็นแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล ทั้งรัฐบาลสมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ จนถึง ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่มีการนั่งควบ
กระทั่งรัฐบาลประยุทธ์นี่แหละครับที่ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” นั่งควบ
ฉะนั้นเหตุที่ “ปานปรีย์” ลาออกทันทีหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น่าจะเป็นเหตุที่ร้ายแรงในทางการเมือง
ไม่ใช่เรื่องน้อยใจที่ถูกปรับออกจากเก้าอี้รองนายกฯ แต่อย่างใด
แล้วสาเหตุมาจากอะไร?
ที่แน่ๆ คือ “ปานปรีย์” พูดไม่ได้!
แต่ผลของการไม่มีรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นว่าการหรือรัฐมนตรีช่วย เป็นสถานการณ์ที่ต้องพึงระวัง เพราะรอบๆ บ้านของเราใช่ว่าจะปกตินัก
ฝั่งหนึ่งมีสงคราม
อีกฝั่งมีผลประโยชน์ทางทะเลที่ยังคุยกันไม่รู้เรื่องรออยู่
ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีความสำคัญกว่าที่หลายคนคิด
โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ชาติ หากมีรัฐมนตรีที่ดี ชาติก็จะไม่เสียประโยชน์
แต่หากคนเป็นรัฐมนตรีเอาแต่ทำตามคำสั่งที่มีการบงการมา ผลประโยชน์ก็ไปตกกับคนที่บงการ เช่นกรณี “บุญทรง เตริยาภิรมย์” ถูกบงการหาประโยชน์จากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
“บุญทรง” เคยตกอยู่ในสถานการณ์ “กูพูดไม่ได้”
“ปานปรีย์” จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหรือไม่ เจ้าตัวเท่านั้นที่จะเป็นผู้บอกความจริงกับสาธารณชน
แต่เบื้องหน้านี้ “ปานปรีย์” ลาออกเอง ก็มีสภาพไม่ต่างจาก ถูกบีบให้ออก สักเท่าไหร่
และเมื่อปรากฏชื่อ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” ซึ่งใกล้ชิดกับ “นักโทษชายทักษิณ” สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน ๒ หลายๆ อย่างที่คลุมเครือก็เริ่มจะชัดเจน
นี่คือ ครม.ทักษิณาฐา
จะทำประโยชน์ให้ใครต้องจับตามองกันต่อไป
แต่ “นักโทษชายทักษิณ” มักใช้วิธีการจัดการไม่ค่อยจะเหมือนผู้มีอำนาจคนอื่นทำสักเท่าไหร่
หากจะพูดถึงความจริงใจ ให้ดูกรณีการหย่ากับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เมื่อปี ๒๕๕๑ เป็นตัวอย่าง
เป็นการหย่าเพื่อผลทางกฎหมาย
ในหนังสือ Conversations with THAKSIN ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๔ “นักโทษชายทักษิณ” บอกว่า
….“คุณหญิงพจมานบอกว่า ปล่อยให้เธอกลับบ้าน ส่วนคุณจะทำอะไรก็เรื่องของคุณ อย่าเอาเธอไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในทุกกรณี”
เราต้องต่อสู้อีกมาก เธอพูดอีกครั้งว่า “ไม่ชอบการเมือง แต่เธอเข้าใจดีว่าถ้าผมไม่ต่อสู้ ผมจะไม่มีวันได้กลับบ้าน” คุณหญิงพจมานบอกว่า “ดังนั้นก็ควรจะให้ฉันอยู่คนเดียว”
คุณหญิงพจมานไม่ค่อยชอบออกงานสังคม (low profile woman) น้อยครั้งที่ทั้งคู่จะปรากฏตัวต่อสาธารณะด้วยกัน เมื่อตอนเดินทางไปเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการประมาณ ๖๐ ครั้ง คุณหญิงพจมานร่วมเดินทางไปด้วยเพียงแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น….
และปี ๒๕๖๕ ในงานเปิดตัวหนังสือ Thaksin Shinawatra Theory and Thought (ทักษิณ ชินวัตร หลักการและความคิด) เป็นการบอกเล่าแต่ละช่วงเวลาต่างๆ ของ “นักโทษชายทักษิณ” ตั้งแต่เรื่องราวความผูกพันในครอบครัวภรรยา ลูก หลาน ช่วงเป็นนักธุรกิจ การก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะจนได้เป็นนายกฯ ช่วงเวลารัฐประหาร นโยบายต่างๆ
รวมทั้งบทสัมภาษณ์ คุณหญิงพจมาน ที่ตอบคำถามว่าวันแรกที่คุณทักษิณ เข้าสู่การเมืองจนเป็นนายกรัฐมนตรี คุณหญิงและครอบครัวคุยกันอย่างไร
“…ครอบครัวก็ต้องดีใจเป็นที่สุดค่ะ และคิดกันว่าท่านคงทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เพราะชีวิตท่านก็ผ่านความยากลำบากกว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ ขณะนั้นที่คิด ท่านคงอยากใช้ความสามารถทั้งหมดมาทำประโยชน์ให้ประเทศ…”
ครับ…เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง