รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เดินหน้าพัฒนาศักยภาพสตรี ตามนโยบาย สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ เน้นย้ำ ความเป็นผู้นำของสตรีมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
วันที่ 30 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมงาน A Women’s Empowerment Principles Signature Ceremony for Companies in Thailand ซึ่งเป็นพิธีลงนามของ WEPs (WeEmpowerAsia) ระหว่าง UN Women กับผู้นำทางธุรกิจของไทย ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค๊อก โดยมี Ms.Hohmmad Naciri จาก UN Women H.E. Mr.Pirkka Taplol จาก European Union Delegation to Thailand Mr.Abhisit Vejjajiva และคณะฑูตจาก 7 ประเทศ ประกอบด้วย แคนนาดา นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ เดสมาร์ค ผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นและสวิตเซอแลนด์ และ UN
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีหญิงหนึ่งในสี่คนของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นโอกาสที่สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายบทบาทของสตรีเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม อันเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ
รวมถึงการกำหนดรูปแบบการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของสตรีในสังคมเพื่อให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากขึ้น
อีกทั้ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญกับแรงงานหญิง ด้านการปกป้อง ช่วยเหลือ สร้างความมั่นคงและรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีอย่างต่อเนื่องผ่านการบังคับใช้กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง
ทักษะเหล่านี้สตรีจะได้รับการฝึกฝนจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รณรงค์เพื่อส่งเสริมให้สตรีวัยทำงาน ทุกคนสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตระหนักถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในตลาดแรงงาน จึงได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวโดยใช้แนวทาง 3 แนวทาง ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ”
ด้วยการสร้างแรงงานสตรี ให้เป็นแรงงานที่มีทักษะใหม่และมีทักษะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานสตรี เพื่อให้ได้ค่าจ้างสูงขึ้นตามแบบทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละอาชีพ
รวมถึงเปิดโอกาสให้แรงงานหญิงกลุ่มเปราะบาง ได้ประกอบอาชีพอิสระเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังให้โอกาสแรงงานสตรีที่ถูกเลิกจ้าง และนักศึกษาจบใหม่ได้ประกอบอาชีพ
“อย่างที่ทราบกันดีว่าเราไม่สามารถป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับทุกๆ วิกฤตได้ แต่แนวทางหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือ การสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นให้กับผู้หญิง และแน่นอนว่าการเพิ่มขีดความสามารถของสตรีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน กระทรวงแรงงานรู้สึกปลื้มปีติที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงาน และยินดีที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างพลังให้กับสตรีในประเทศไทยต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด