‘จับกัง1’ ลงใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติราชการของกระทรวงแรงงานแก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดจังหวัดสงขลา ปัตตานี และยะลา พบปะให้กำลังใจบัณฑิตแรงงาน ผู้นำภารกิจด้านแรงงานสู่ประชาชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติราชการของกระทรวงแรงงานแก่หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา พร้อมรับฟังข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบาย ณ ห้องประชุมสำนักงานแรงงานจังหวัดสงขลา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับ
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ โดยอาศัยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อสร้างความสงบสุขให้กลับคืนมาเป็นปกติโดยเร็ว
ในวันนี้ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมาติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านแรงงาน พร้อมรับฟังสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะจากหัวหน้าส่วนราชการสังกัดจังหวัดสงขลา ปัตตานี และยะลาตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานไปสู่ประชาชนในพื้นที่
โดยการส่งเสริมการมีงานทำ การประกอบอาชีพอิสระ แรงงานได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการ มีสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนมีหลักประกันทางสังคม
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้ไปตรวจเยี่ยมพบปะและให้กำลังใจบัณฑิตแรงงานจังหวัดปัตตานี โดยกล่าวว่า ผมขอชื่นชมบัณฑิตแรงงานในพื้นที่ทุกคน ที่อุทิศตนเป็นผู้เสียสละ ทำหน้าที่ในการสนับสนุน ช่วยเหลือ ส่งเสริมภารกิจของกระทรวงแรงงานไปสู่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
ทั้งนี้ ปัจจุบันบัณฑิตแรงงานมีหน้าที่ดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านข้อมูล เป็นผู้นำข้อมูลด้านแรงงานไปสู่ประชาชน และนำข้อมูลจากพื้นที่สู่หน่วยงานด้านแรงงาน ให้ประชาชนมีอาชีพ เพิ่มรายได้มีสวัสดิการ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ด้านความมั่นคงเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจเชิงบวก ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน ด้านความยั่งยืน ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานที่ให้บริการแก่ประชาชน และการนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย