รมว.ยุติธรรม-รมว.แรงงาน เดินหน้าบันทึกข้อตกลงพัฒนาผู้ต้องขังให้มีพื้นฐานทางอาชีพ ยันเดินหน้านำนักโทษคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน “ส.ส.กานต์กนิษฐ์-พัชรินทร์”หนุนสร้างอาชีพเพื่อไม่ให้นักโทษกระทำความผิดซ้ำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ ระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงแรงงาน
โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
ก่อนการร่วมงาน นายสมศักดิ์ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้เดินชมบูธกิจกรรม ที่เป็นฝีมือของผู้ต้องขัง เช่น กระถางต้นไม้แบบทันสมัยที่เป็นรูปหนุมาน เครื่องสาน และร้านกาแฟที่ทำโดยผู้ต้องขัง
นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ อดีตผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำแล้วสามารถทำอาชีพเลี้ยงตนเองและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น นายอัครินทร์ ปูรี ช่างทำกีต้าร์ชื่อดังที่เวลานี้มีคิวการสั่งทำกีต้าร์ยาวถึง 2 ปี นายเฉลิมพร สวัสดิ์สุข นักมวยชื่อดังที่ขณะนี้ได้เปิดโรงเรียนสอนมวยเป็นของตัวเอง นายสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์ ที่ขณะนี้เป็นเกษตรกรเลี้ยงแพะ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พิธีลงนามข้อตกลงนี้ เกิดขึ้นจากคำปรารภของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงานได้นำมาสานต่อเพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการฝึกฝนภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ สามารถอยู่ในสังคมอย่างคนปกติ เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่จะสร้างขีดความสามารถของประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ตนมีแนวนโยบายที่จะยกระดับความร่วมมือและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ โดยกระทรวงยุติธรรมจะมีหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน จัดเตรียมสถานที่ในการฝึกอบรม สนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม
ส่วนทางกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีหน้าที่แนะแนวอาชีพ จัดหาตำแหน่งงานว่าง ประสานและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการหรือนายจ้าง ส่งเสริมการมีงานทำโดยจัดสาธิต การฝึกทักษะอาชีพระยะสั้น จัดวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน ให้คำปรึกษาและแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การออกวุฒิบัตร การบรรจุงาน จัดหาแหล่งทุนและประเมินผล
“ผมมุ่งหวังว่าการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมในครั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและพ้นโทษออกไปจะมีงานทำเหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งส่วนสำคัญในการคืนคนดีสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างโอกาสทางอาชีพ ซึ่งมีอีกมากมายที่ลงทุนไม่มากและสามารถทำได้เมื่อพ้นโทษ ผมจึงนึกถึงคำปรารภของนายกฯที่พูดกับผม ว่าอยากให้ผู้ต้องขังสามารถฝึกสุนัขได้ จากนี้ตนจะวางแผนหาพื้นที่ดำเนินการต่อไป ผมให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะจะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจได้ เรื่องนี้จะเป็นนโยบายสำคัญอีกเรื่องที่ผมจะเดินหน้าทำให้สำเร็จ” นายสมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.พัชรินทร์ กล่าวว่า นับว่านิมิตหมายที่ดีที่ได้เห็นว่ากระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญกับนักโทษที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัว โดยการพัฒนาศักยภาพของบุคคลเหล่านี้ อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนำงบประมาณส่วนนี้ลงให้กับคนที่เคยกระทำความผิดในสังคม แต่ในมุมมองหนึ่ง บุคคลที่กระทำความผิด หากเขาออกมาแล้วเขาคงยังไม่มีอาชีพ หรือไม่ทำให้ตัวเองมีคุณค่าในสังคมได้ ก็มีโอกาสทำให้พวกเขากลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
นั่นความหมายความสังคมอาจจะยังมีความไม่ปลอดภัยอยู่ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณเหล่านี้ นอกจากเป็นการให้โอกาสคนที่อาจจะกระทำควาดผิด โดยบางครั้งเพียงอารมย์ชั่ววูบ ยังเป็นสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยอีกด้วย