23 กันยายน 2563 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ว่า
วันนี้รู้สึกมีความภาคภูมิใจอีกครั้งที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น อภิปรายต่อประเด็นร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ ตอนที่สภาแห่งนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตนก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ลุกขึ้นอภิปรายในสภาแห่งนี้ว่า
เมื่อวันนี้เราได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราก็พบความจริงในฐานะผู้ใช้ว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 นั้นมีปัญหา ไม่ว่าในช่วงที่มีการเลือกตั้งก็ตาม ระบบการเลือกตั้งที่ทำให้มีระบบที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยลงมาสมัครกันอย่างมากมาย และมีระบบการคิดคะแนนที่มีปัญหาในช่วงระหว่างการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ได้มีการโจษจันกันชัดเจนว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาในเรื่องนี้และก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 2 ที่สำคัญที่มีการพูดถึงกันมากก็คือ เรื่องของสิทธิเสรีภาพ ถ้าหากเราติดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของพี่น้องประชาชนค่อนข้างชัดเจนและครอบคลุมมากกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แม้แต่เรื่องของการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความสมดุล และมีความจริงใจในการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น ประกอบกับเมื่อมีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้อย่างต่อเนื่องมา เราพบความเป็นจริงว่า สังคมทางการเมืองของเราก็ขาดดุลยภาพ ความขัดแย้งในทางสังคมก็เกิดขึ้น
คิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธ ถึงแม้วันนี้ตนได้ยึดหลักว่าเราจะต้องพิจารณาอยู่บนหลักการเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอื่นที่อาจจะเป็นความแตกต่างทางด้านปัจเจกบุคคล แต่ว่าต้องยอมรับความเป็นจริงว่า
เมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศไม่มีดุลยภาพ ความขัดแย้งก็ต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่มีข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้หยุดการคุกคามพี่น้องประชาชน เหล่านี้เป็นต้น
หรือแม้แต่วานนี้กลุ่มพี่น้องประชาชนก็ยังเข้าชื่อกันในการขอเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และแน่นอนที่สุด คณะกรรมาธิการฯ ที่ตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ศึกษาอย่างเป็นกลาง ทั้งข้อดีและข้อเสีย ก็พบข้อเสนอแนะความเป็นจริงไม่ต่ำกว่า 20 ประเด็นที่เสนอแนะว่า ควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แม้แต่ในหมวดบทเฉพาะกาลหลังสุด ก็ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่า ควรที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญของปี 2560 นั้น เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าแก้ไขได้ยาก หรือแก้ไขไม่ได้เลย ผิดหลักการในการที่ให้เสียงข้างน้อยมามีอิทธิพลมากกว่าเสียงข้างมาก
ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่า ไม่สามารถที่จะเปิดประตูไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่บนพื้นฐานที่เรียกว่า เราแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยาก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ วันนี้พรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้ร่วมกันปรึกษาหารือกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า จะทำอย่างไรที่จะนำเสนอในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นไปได้จริง โดยเฉพาะในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ได้มีส่วนปรึกษาหารือกันว่า ทำอย่างไรให้แนวความคิดในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเอกภาพ
ในท้ายที่สุดเราก็มีร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล คือให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการจัดตั้ง สสร.
ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้เราได้มีหลักความคิดในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อสะเดาะกลอนไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เราต้องการที่จะแก้ไขให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สร้างดุลยภาพ สร้างเสถียรภาพให้กับทางการเมือง หรือที่หลายคนบอกว่า ต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่กินได้
แต่ว่ามีข้อจำกัดว่า เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้แก้ไขได้ยาก การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงมีความจำเป็น พวกเราสมาชิกรัฐสภาที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ถ้าเราเปิดใจกว้างจากข้อจำเป็นและเหตุผลที่ได้กล่าวมา จึงคิดว่าวันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาดูว่า เราควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นี้หรือไม่
และในขณะเดียวกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็คิดว่าถ้าหากเราจะทำการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น คิดว่าทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นกลางก็คือ เราจะต้องใช้แนวทางในการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม นั่นก็คือการตั้ง สสร. ขึ้นมา เพื่อดำเนินการในการเสนอร่างฯ
ซึ่งมีข้อแตกต่างกันบ้าง ร่างของพรรคฝ่ายค้านนั้นเลือกตั้งโดยตรงมา 200 คน สำหรับที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็ให้มีการเลือกตั้งโดยตรงตามสัดส่วนของประชากรมาจำนวน 150 คน และให้คัดเลือกโดยอ้อมจากสมาชิกรัฐสภา ที่เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเข้าใจในด้านนิติบัญญัติเข้ามาจำนวน 20 คน
และจากที่ประชุมอธิการบดีเลือกผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องกฎหมายมหาชนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ทางด้านผู้มีประสบการณ์บริหารราชการแผ่นดินอีก 20 คน และเพื่อเปิดกว้างให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย จึงให้ กกต. ไปกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา
การกำหนดแนวทางนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะแก้จุดอ่อนในการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกันก็คือว่า เมื่อเลือกตั้งโดยตรงมา 200 คน 200 คนนี้ต้องไปตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ กรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะมีอิทธิพลต่อการชี้นำต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเราต้องการให้คนยกร่างฯ มีส่วนมาตั้งแต่เริ่มต้นในฐานะ สสร.
นี่คือเหตุผลสำคัญว่า วันนี้เราจะต้องนำเสนอในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดประตูครั้งสำคัญในการนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่พวกเราต้องการว่า เราจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
คงไม่มีใครอยากเห็นบ้านเมืองกลับไปอยู่จุดเดิม ไม่มีใครอยากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องทำโดยวิธีทางลัด หรือวิธีรัฐประหารอีกแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เสียหายเพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ว่าถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปโดยระบอบประชาธิปไตย ตนคิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมือง ยิ่งมากกว่าเป็นร้อยเท่า ทวีคูณ
โดยเวลาจำกัดนี้ จึงขอเรียกร้องต่อเพื่อนสมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้ 4 ประการ
ประการแรก เราต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้จึงคิดว่าถ้าหากว่าเรายังยึดอัตตาในแต่ละฝ่าย การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากเรามาร่วมกัน มีอะไรที่แตกต่างกันบ้างก็มาปรึกษาหารือกันในชั้นกรรมาธิการฯ เพื่อปรับปรุงให้มีโอกาสที่จะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นได้จริง ก็น่าจะมีโอกาสสูงขึ้น
ประการที่ 2 ขอเรียกร้องให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือการที่จะให้มี สสร. ขึ้นมาเพื่อดำเนินการในการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทั้งฉบับต่อไป
ประการที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำพูดแค่วาทกรรม แต่เป็นเรื่องที่เราต้องการสร้างความสมานฉันท์ เป็นเรื่องที่เราต้องการให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมและเมื่อไหร่ที่พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วม ก็คิดว่าจะมีความยั่งยืนในการที่จะใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป
ประการสุดท้าย เราต้องการที่จะเห็นว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ ผลสุดท้ายจะทำให้การเมืองนั้นมีเสถียรภาพ ถ้าเมื่อไหร่การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพด้วย รัฐบาลก็สามารถที่จะออกนโยบายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่างๆ แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ในท้ายที่สุดเราก็ไม่ต้องมาพะวังกับเรื่องของการที่จะเกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองของเราอีก
“มาร่วมมือกันถอดสลักของบ้านเมืองเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์และเพื่อให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริง ส่วนรายละเอียดและเนื้อหาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่พวกเราที่จะเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการจะได้มาช่วยกันเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์ต่อไป”