16 กรกฎาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวทางสื่อโซเชียลที่กำลังบูลลี่ ข่มขู่ ทำร้าย ให้ร้ายและคุกคาม ประชาชนและธุรกิจของผู้ที่ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล รวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่ไม่สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า
เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบครรลองประชาธิปไตย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกกระทำสามารถใช้สิทธิโดยสุจริตในการปกป้องและป้องกันความเสียหายจากการละเมิดกฎหมายดังกล่าวได้
ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาโดยการรวบรวมพยานหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจและความเป็นส่วนตัวได้
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญได้รองรับสิทธิของประชาชนไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 32 “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ฯ”
และมาตรา 40 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ฯ”
ดังนั้น กระบวนการเคลื่อนไหวทางสื่อโซเชียลในขณะนี้จึงละเมิดสิทธิดังกล่าว และรัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้รับรองสิทธิของบุคคลและผู้ประกอบการธุรกิจในมาตรา 25 ดังนี้ คือ
“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
และบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” ด้วย
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ประชาชนผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิด โดยสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั่วประเทศหรือจะดำเนินการฟ้องคดีเองก็ได้โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 85, 86 ในฐานะ ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการโพสต์ข้อความ ให้ข้อมูลเพื่อให้ไปกระทำความผิด
กรณีมีผู้ที่โพสต์แจ้งให้ข้อมูลส่วนตัว ประจาน แจ้งพิกัดข้อมูลส่วนตัวโดยประการยุยง หรือให้เข้าใจผิด และความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326, 328 กรณีบุคคลทั่วไปที่แสดงความคิดเห็นในเพจอื่นๆ และความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ดังนี้
ป.อาญา มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการ…ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ผู้ใช้ต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ
และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น”
ป.อาญา มาตรา 85 “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน ผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศ ผู้โฆษณาหรือประกาศต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ”
ป.อาญา มาตรา 86 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”
ป.อาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ป.อาญา มาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 สำหรับบัญชีบุคคลทั่วไป และมาตรา 15 สำหรับผู้ให้บริการ เช่น เพจข่าว เพจข้อมูล เว็บไซต์ Line@ หรือในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 14
ความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
น.ส.ทิพานัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการดำเนินคดีและรวบรวมหลักฐานในเชิงเทคนิคเทคโนโลยีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีนวัตกรรมที่ดีสามารถสืบสวน สอบสวนอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิม มีความร่วมมือค้นหาผู้ต้องสงสัยร่วมกันกับผู้ให้บริการโซเชียลต่างๆ มากขึ้น สามารถค้นหาอวตารและผู้ใช้ VPN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการเชื่อมั่นในกระบวนยุติธรรมที่จะดำเนินการฟ้องบุคคลต่างๆ ที่ได้แสดงความคิดเห็นตามโซเชียลอันกระทบต่อสิทธิตามข้อกฎหมายข้างต้นและเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้รวดเร็วขึ้น
“ส่วนกรณีที่นายพิธา เผยแพร่คลิปและข้อความเรื่องประกาศครั้งสำคัญ 15 ก.ค.2566 โดยมีใจความว่า “ผมจึงขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการส่งสารถึง ส.ว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำ ขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว. โหวตนายกตามมติประชาชน หรือ โหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน”
แล้วหากผู้เชียร์นายพิธามีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของ ส.ว.ท่านใดเกิดขึ้นก็ตาม
นายพิธาก็อาจเข้าข่ายต้องร่วมรับผิดในการกระทำดังกล่าวในฐานะผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามป.อาญามาตรา 84, 85 และ 87 เพราะเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการโฆษณา และยังอาจเข่าข่ายความผิดตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45
ที่บัญญัติห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งอาจมีโทษถึงยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามมาตรา 92(3)” ด้วย น.ส.ทิพานัน กล่าว