“คุณทัดทานอนาคตไม่ได้ จะให้เป็นม้าหมุน 14 ปี ไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ที่ผูกขาดอำนาจและทำรัฐประหารตอบโจทย์ความมั่นคงในปัจจุบันไม่ได้ และไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นสั้นๆ กับสื่อมวลชนบริเวณข้างสนามหลวง ระหว่างการมาร่วมสังเกตุการณ์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อเสนอต่างๆจากการชุมนุมในวันที่ 19 -20 ก.ย. 63 พร้อมระบุว่า ในวันที่ 23-24 กันยายน สภาจะมีการพิจารณาญัตติการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลจะใช้เวทีรัฐสภาเพื่ออภิปรายและทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และอีกประการที่สำคัญที่มาในวันนี้ก็คือ ต้องการมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการพูดและความปลอดภัยของประชาชน
“เสียงและข้อเรียกร้องประชาชนจะส่งถึงรัฐสภาโดยเฉพาะ ส.ว.อย่างเเน่นอน เพราะผมที่เป็นหัวหน้าพรรค และเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกลมารับฟังด้วยตัวเอง วันนี้เป็นเวทีของประชาชน ส่วนวันพุธที่ 23 กันยายน จะเป็นเวทีของพวกเรา เราจะนำข้อเรียกร้องและสิ่งที่พูดคุยกันในวันนี้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อไปตะโกนเเทนประชาชน ซึ่งในรัฐสภา มี ส.ว.250 คนอยู่ในนั้นด้วย
หากพวกเขาได้ฟังในวันนี้และยังได้ยินไม่ชัดเพียงพอ ส.ส.อย่างพวกเราจะไปอภิปรายในรัฐสภา ทั้งมาตรา 256 เรื่องการเสนอตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาตรา 270 -272 และมาตรา 279 พวกเรามีเวลา 2 วัน ที่จะเรียกร้องไปถึง วิปรัฐบาล และฝ่ายผู้มีอำนาจให้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นยาพิษมานาน อย่างไม่ประวิงเวลา เพื่อให้เกิดการพูดคุยเต็มที่ และการพูดคุยจะเป็นกุญเเจเเละทางออก เปลี่ยนผ่านไปอย่างสันติ”
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น จะต้องไม่เป็นพื้นที่ผูกขาดของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จึงไม่เห็นด้วยกับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเรื่องโควต้าสัดส่วนต่างๆ เช่น นักศึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัย หรือสัดส่วนของรัฐสภา ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นพื้นที่ทางออกของความขัดเเย้ง และหากทำให้รัฐสภาหมดหวัง นั่นก็จะเป็นสาเหตุที่ประชาชนจะลงถนนต่อไปอีกเรื่อยๆ
“อยากจะเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจว่า พี่น้องที่มาชุมนุมวันนี้มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะมาชุมนุม เพราะเป็นการชุมนุมเพื่ออนาคต ประชาชนมาแบบไม่มีอาวุธ มาด้วยสามนิ้ว เพื่อเรียกร้องความคับข้องใจที่มีตลอดมา ตั้งเเต่ปี 2549 -2563 ตั้งเเต่ คมช.-คสช. วันนี้เป็นวันที่ความคับข้องใจ ความโกรธ และความหมดหวังของประชาชนมากองกันอยู่ที่เวทีสนามหลวงแห่งนี้
“ผู้มีอำนาจทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจหรืออภิสิทธิ์ชน ยังมีทางเลือกที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟ ยังสามารถตัดสินใจเพื่อให้เกิดการพูดคุยเเละการเจรจากันได้ เพื่อให้ประเทศไทยออกจากวงจรที่วนไปเรื่อยๆ ไม่มีทางออกเสียที อย่าให้ประเทศไทยถึงทางตัน ตอนนี้ก็ยังมีสิทธิเลือก โดยการหยุดคุกคามประชาชนและมารับฟังประชาชนเดี๋ยวนี้”
พิธา กล่าวต่อไปว่า พวกเรามาเพื่อปกป้องประชาธิปไตยไม่ใช่มาเเค่ปกป้องการประท้วง การประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ถ้าคุณมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยคุณจะโอบอุ้มมัน แต่หากคุณมองเป็นภัยคุกคามคุณก็จะหาวิธีควบคุม กำจัดมันออกไปหรือมองเป็นความรำคาญของรัฐบาล หมดเวลาคิดแบบนั้นแล้ว การเคลื่อนไหวเป็นการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาที่จะพูดถึงปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นเรื่องปกติที่สากลโลกยอมรับกัน ไม่ว่าเนื้อหาหรือรูปแบบการจัดชุมนุมของวันนี้ ถือเป็นสิทธิตามปกติ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว
“ผมสังเกตการณ์สักพักก็เห็นว่าประชาชนมาด้วยรอยยิ้ม ถึงเเม้ว่าจะมีความผิดหวังสะสมมาเป็นเวลานานก็ยังยิ้มออก พวกเขามาเพื่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ”
สำหรับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ มีทั้งสิ้น 6 ญัตติ ประกอบด้วย
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 279 ที่ให้ยกเลิกรับรองประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540
ภาพจาก เฟซบุ๊ก : Pita Limjaroenrat