นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการลงชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านว่า
หลักการในเรื่องดังกล่าวไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะมีความชัดเจนในตัวร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ ของฝ่ายค้าน ที่เป็นคนละเรื่อง คนละมาตรา คนละประเด็นกัน ฉะนั้น ส.ส.แต่ละคนสามารถที่จะลงชื่อในแต่ละร่างได้ ไม่ถือว่ามีความซ้ำซ้อนกัน
กรณีคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้นำมากล่าวถึงนั้นก็เป็นคนละกรณีกันเนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยความชอบของกฎหมายงบประมาณ เมื่อลงชื่อซ้ำกันในคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกัน ศาลจึงเห็นว่าเป็นการลงชื่อซ้ำซ้อน คนละเรื่องกันกับกรณีเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับของฝ่ายค้านที่เป็นการเสนอกฎหมายแต่ละร่างแก้ไขมาตราที่ต่างกัน
นายราเมศ กล่าวต่อว่า จากนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 นอกเหนือจากการอภิปรายว่าสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะรับหรือไม่รับในแต่ละร่างแล้วท้ายที่สุดก็จะมีการออกเสียงลงคะแนน
โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาคือ 84 คน ในวาระหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านเข้าสู่วาระ 2 ในชั้นกรรมาธิการกี่ญัตติ