แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัว เพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตก่อนการเลือกซื้อเนื้อ ซึ่งเนื้อวัวควรมีลักษณะสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด
สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็กๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา
นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล
“ทั้งนี้ สำหรับบุคคลที่มีการปลอมแปลงอาหาร ถือได้ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 การควบคุมอาหารตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งอาหารปลอม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนี้ ตามมาตรา 27 อาหารที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาหารปลอม (1) อาหารที่ได้สับเปลี่ยนใช้วัตถุอื่นแทน บางส่วน หรือคัดแยกวัตถุที่มีคุณค่าออกเสียทั้งหมดหรือบางส่วน และจําหน่ายเป็นอาหารแทนอย่างนั้น หรือใช้ชื่ออาหารแทนนั้น (2) วัตถุหรืออาหารที่ผลิตขึ้นเทียมอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดและจําหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น (3) อาหารที่ได้ผสมหรือปรุงแต่งด้วยวิธีใดๆ โดยประสงค์จะปกปิดซ่อนเร้นความชํารุดบกพร่องหรือความด้อยคุณภาพของอาหาร
และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ผู้บริโภคและผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
อาทิ ควรสวมถุงมือหรือใช้ที่คีบเนื้อสัตว์ ไม่สัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรง และเมื่อนำเนื้อสัตว์มาปรุงเป็นอาหารควรทำให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังกลับจากตลาด ที่สำคัญต้องสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัดอยู่เสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว