สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ปัญหาและกลไกการดำเนินงาน Smart Farming เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้เกษตรกรไทย

ในปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เลือกประเด็น“การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)”มาทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดันกลไกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวถึงการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ว่าเป็นประเด็นการพัฒนาที่มีลำดับความสำคัญสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2565) โดย สศช. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะรวมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเบื้องต้น เพื่อจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนในระยะต่อไป และพบว่า การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในปัจจุบันมีประเด็นท้าทายที่ต้องให้ความสำคัญดังนี้

1)การกำหนดคำนิยามของคำว่า “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” ยังไม่ชัดเจนโดยแต่ละหน่วยงานได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามที่แตกต่างกันไป เช่น บางหน่วยงานนิยามว่าเกษตรอัจฉริยะหมายถึงเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก หรือนิยามไปที่ตัวเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรเท่านั้น

ดังนั้น สศช. จึงได้ศึกษาวิเคราะห์และประมวลได้ว่า  เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)”  จะหมายถึงวิธีทางการเกษตรที่มีการวิเคราะห์พื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ใช้หลักการทำน้อยได้มาก ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิต

ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขนส่ง ตลอดจนการแปรรูป รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต ตัวอย่างเช่น การใช้ Agri-Map เพื่อตรวจสอบสภาพดินและการเลือกเมล็ดพันธุ์ การควบคุมปริมาณแสง ความชื้น และอุณหภูมิ การกำหนดปริมาณสารอาหารและน้ำที่เหมาะสม การใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อการบริหารจัดการแปลงและโรงเรือน การกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการสั่งการระยะไกล โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน

รวมทั้งการวางแผนและตัดสินใจทำการเกษตรบนฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง โดยการพัฒนา Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการผลิต ทั้งนี้ การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมาย จะต้องขับเคลื่อนองค์ประกอบสำคัญใน 5 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ ตัวเกษตรกร เทคโนโลยี กระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยว ตลาด และเงินทุน

2)การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะยังขาดการทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรอัจฉริยะมีการขับเคลื่อนโดยหลายหน่วยงานแต่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ของเกษตรกรให้รู้แนวคิดการเป็น Smart Farmer เท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาในด้านอื่นๆ ด้วย และหลายโครงการของกระทรวงเกษตรฯ มีความซ้ำซ้อนและคล้ายคลึงกัน

ในขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย แต่ไม่มีเงินทุนให้เกษตรกรซื้อเทคโนโลยีมาใช้งาน  กระทรวงพาณิชย์ไม่มีการสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับสินค้าที่เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก Smart Farming อย่างชัดเจน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการสินเชื่อเพื่อการเกษตรแต่ไม่ได้สนับสนุนเป็นการเฉพาะสำหรับการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือบางหน่วยงานแยกส่งเสริมเป็นรายผลผลิต เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรในภาคตะวันออก เน้นผลักดันให้นำเกษตรอัจฉริยะมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกผลไม้และการทำผลไม้แปรรูป ขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้เงินทุนสนับสนุนภาคเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น

3)ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเกษตรกรหนึ่งคนต้องการเข้าร่วมการทำเกษตรอัจฉริยะโดยการพัฒนาองค์ความรู้ของตน ต้องการใช้เทคโนโลยี แต่ขาดเงินทุน เกษตรกรคนดังกล่าวต้องติดต่อกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ธ.ก.ส. ด้วยตนเอง

ดังนั้น จึงควรกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน โดยอาจเป็นกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน รวมถึงประสานให้เกิดการส่งไม้ต่อการดำเนินงานจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งได้อย่างมีบูรณาการ

นอกจากนี้ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า เกษตรอัจฉริยะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการยกระดับเกษตรกรรมของประเทศไทย ดังนั้น นอกจากต้องสร้างการบูรณาการด้านความรู้ ข้อมูล และวิธีการต่างๆ จากหลายภาคส่วนแล้ว

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการยกระดับการใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือหลังจากส่งเสริมให้เกษตรกรเริ่มนำเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากมาใช้ เช่น  อากาศยานไร้คนขับระบบน้ำหยด การใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ควรผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมาใช้ เช่น หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร หรือการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์

ทั้งนี้ สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (FocusGroup) เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้นกับหน่วยงานและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และระดมความเห็นในเชิงลึกเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ก่อนเสนอไปยังระดับนโยบายเพื่อพิจารณา ซึ่งผลการลงพื้นที่จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามต่อ และน่าคิดว่าหาก Smart Farming สามารถผลักดันในทางปฏิบัติได้จริง จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคการเกษตรไทยไปได้ขนาดไหน


Written By
More from pp
หมูขี้อ้อน!! จ้าวอู๊ดๆ ชาวบ้านถวายวัดเลี้ยงจนอ้วนหนักกว่า 100 กก. กลายเป็นขวัญใจพระและญาติโยมที่ปฎิบัติธรรม
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวจังหวัดพังงารายงานว่า ได้รับแจ้งที่วัดเฉลิมพระเกียรติบางมรวน ม.5 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีหมูแสนรู้ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัดเลี้ยงดู
Read More
0 replies on “สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ปัญหาและกลไกการดำเนินงาน Smart Farming เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้เกษตรกรไทย”