อะไรคือ ๖ ตุลา ๑๙?

ผักกาดหอม

อะไรคือ ๖ ตุลา ๑๙?
บางคนเกิดทัน
บางคนยังเป็นวุ้น…เกิดไม่ทัน
และหลายๆ คนยังไม่ปฏิสนธิ
ต่างพากันพูดเรื่อง ๖ ตุลา ๑๙ เหมือนกัน
แต่ไปคนละทาง…. ตามแต่ใจอยากให้เป็น เพื่อตอบสนอง “ธง” ที่ตั้งไว้ ท่ามกลางกระแสสู่วิกฤต ประเทศอาจหวนคืนกลับไปสู่ความขัดแย้งแบบ ๖ ตุลา ๑๙ อีกครั้ง

๖ ตุลา ๑๙ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สามารถหาอ่านได้เป็นการทั่วไป
ไม่มีอะไรปกปิดลับ
ใครผิด-ใครถูก ก็สามารถอธิบายได้โดยประวัติศาสตร์

แต่ในโลกความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอย เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ทุกอย่างทุกสิ่งจะหมุนซ้ำรอยเดิม
ประวัติศาสตร์ย้อนเป็นเกลียวเสมอ ด้วยเหตุปัจจัย และบริบทที่แตกต่างออกไปตามกาลเวลา

นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ขดลวดแห่งประวัติศาสตร์” เหตุการณ์คล้ายกัน สามารถย้อนกลับมาเกิดได้อีกครั้ง โดยองค์ประกอบที่ต่างจากเดิม

เช่นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดเป็นวัฏจักร จากจุดเริ่มต้นที่ต่างกันออกไป

ฉะนั้นเมื่อพูดถึง ๖ ตุลา ๑๙ ก็ให้ย้อนกลับไป ปีพ.ศ. ๒๕๑๙ อย่าเอาบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปตัดสินในทุกเรื่อง

ก็พบความจริงว่า ปฐมเหตุของ ๖ ตุลา ๑๙ ถูกมองแตกต่างกันออกไป
ทั้งหมดก็คือมุมมองจากคนไทยด้วยกัน

กลุ่มนักศึกษาประชาชน มองว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหาร “เข่นฆ่า” ทั้งก่อนและต่อเนื่องจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖

กลุ่มอนุรักษ์นิยม ฝ่ายรัฐ ประชาชนที่ถูกเรียกว่าฝ่ายขวา เชื่อว่า เป็นผลสืบเนื่องจาก การแสดงแขวนคอ ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ถูกโจมตีว่า แต่งรูปให้คล้าย “มกุฎราชกุมาร”

บ้างก็ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะ “อภินันท์ บัวหภักดี” นักศึกษาที่แสดงละครแขวนคอ มีหน้าตาละม้าย
คล้ายกับมกุฎราชกุมาร
จนหลายคนเชื่อว่า “ตั้งใจ”

แต่…ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพึงต้องตระหนัก นั่นคือ เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง นั้นเกิดขึ้นได้ทั้งโดยตั้งใจและบังเอิญเสมอ

เมื่อคนไทยในปี ๒๕๖๓ กลับไปพูดถึงเหตุการณ์วิปโยคเมื่อ ๔๔ ปีก่อน โดยหยิบเอาบริบทในปัจจุบันไปตัดสิน สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ แทนที่จะพูดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด กลับจะกลายเป็นการจุดชนวนหวังให้ “ซ้ำรอย” อดีต

ฝ่ายนิสิต นักศึกษา นักการเมืองฝ่ายค้าน มองว่า การใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะนำไปสู่การนองเลือด

แต่อีกฝ่ายมองว่า ๑๐ ข้อเสนอของม็อบธรรมศาสตร์ คือการล้มล้างและดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นการจุดชนวน ให้เกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง ย้อน

ประวัติศาสตร์วิปโยค
นี่คือขดลวดแห่งประวัติศาสตร์ ในบริบทใหม่

นิสิต นักศึกษา จำนวนหนึ่งที่เคยต่อสู้ในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ วันนี้ยืนข้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นิสิต นักศึกษา อีกจำนวนหนึ่งจากยุคเดียวกัน วันนี้ยืนข้างระบอบทักษิณที่สร้างความร้าวฉานทางการเมืองช่วงสิบกว่าปีที่ผ่าน ทั้งจากกรณีโกงทั้งโคตร และ “จาบจ้วง”

แต่ก็ยืนกรานว่าตัวเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เป็น “อีแอบ” อยู่ข้างหลังนิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน

เช่นเดียวกัน เผด็จการทหาร “ถนอม ณรงค์ ประภาส” ที่ถูกนิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน มองว่าคือต้นแบบของ รัฐบาลประยุทธ์
เพราะเชื่อว่า รัฐประหารยุคไหนก็เหมือนกัน

แต่รัฐประบาลประยุทธ์ กลับได้รับการยอมรับ มากกว่าเผด็จการในอดีต ทั้งๆ ที่ยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ต้อนรับรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งกว่าโลกเมื่อ ๔๔ ปีที่แล้วมากโข!

รัฐบาลประยุทธ์อยู่มาได้อย่างไรถึง ๖ ปี!
ฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึง ๖ ตุลา ๑๙ ก็ขอให้ใช้เหตุการณ์นั้น “ปราม” ความคิดนั้นเสีย
ไม่ใช่นำมาปั่นกระแส

สร้างภาพ “ถนอม ณรงค์ ประภาส” และ “ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์” คือพวกเดียวกัน พฤติกรรมต้องเหมือนกัน

แม้ ๑๔ ตุลา ถูกจารึกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความเบ่งบานของระบอบประชาธิปไตย ส่วน ๖ ตุลา เป็นภาพกลับด้าน
หยุดเส้นทางประชาธิปไตย ย้อนกลับไปหาเผด็จการ

แต่ที่ลึกไปกว่านั้น การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นที่สะพรึงกลัว ไม่เฉพาะไทยเท่านั้น

อเมริกา ถือเป็นภัยคุกคาม “ประชาธิปไตย” ของโลก
ในไทยยิ่งซับซ้อนกว่าสิ่งที่อเมริกาหวาดกลัวมาก!

เพราะการมาของคอมมิวนิสต์คือการสูญสิ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์

๑๔ ตุลา ๑๖,๖ ตุลา ๑๙ ในอดีต จึงเป็นการต่อสู้ที่มากกว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” อย่างที่คนรุ่นหลังเข้าใจกัน

ฝากไปถึงฝ่ายที่พยายามปั่นกระแส ๖ ตุลา โดยเอาคลิปการปราบปรามนักศึกษาในอดีตมาแชร์ มาเผยแพร่ แล้วสรุปว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์จะทำกับนิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่

อย่าจุดไฟแห่งความขัดแย้ง!
อดีตคนเดือนตุลาที่ไม่เอาเจ้า มาวันนี้หลบข้างหลังใช้เด็กเป็นเครื่องมือ อย่าสร้างเงื่อนไข เพราะเขารู้ทันกันหมดแล้ว

ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ถูกอาตี๋อาหมวยฮ่องกงท้าทายเป็นปีๆ ขณะที่เสียงจากตะวันตกพากันประโคมว่าจีนจะใช้เทียนอันเหมินโมเดลเข้าจัดการปัญหา

แต่เปล่าเลย….
พญามังกร อดทนอดกลั้น จนนับวันม็อบนักศึกษามีแต่ฝ่อลง
กลับกันรัฐบาลจีนใช้กฎหมายรุกไปเรื่อยๆ
ไม่มีความรุนแรงแบบเทียนอันเหมินปรากฎให้เห็น

การชุมนุมที่ฮ่องกง หนักหน่วงรุนแรงกว่าที่กรุงเทพฯหลายเท่า จนเทียบกันไม่ได้
จึงมองไม่ออกว่า รัฐบาลจะใช้กำลังปราบนิสิต นักศึกษา อย่างที่เคยเกิดในอดีตได้อย่างไร

ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่
บริบทของความขัดแย้งในวันนี้คืออะไร?
ถ้าเป็น ๓ เงื่อนไขเดิม
๑.รัฐบาลยุบสภา
๒.หยุดคุกคามประชาชน
๓.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ยากที่จะพาชาติไปสู่วิกฤต เพราะ ๓ ข้อเสนอ เสนอมาสลับข้างกันต่อเนื่อง
เสื้อแดงก็เสนอ เสื้อเหลือง กปปส. ก็เคยเสนอ

มวลชนแต่ละกลุ่ม ล้วนออกมากินนอนบนถนน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลัษณะเดียวกันนี้แทบทั้งสิ้น

ถ้าจะขัดแย้ง ก็ไม่มีทางที่จะหนักหนาสาหัสกว่าที่แล้วมา

แต่ ๑๐ ข้อ ที่อ้างว่าเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างนั้น คนที่บอกว่าเสนอด้วยเจตนาดี ควรดูบริบทในการชุมนุมด้วย

เพราะเต็มไปด้วยการแสดงออกที่เชื่อว่าได้ ชุมนุมเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มากกว่าให้บรรลุข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ
และนี่จะเป็นจุดหักเหสำคัญ หากการชุมนุมใช้ข้อเสนอ ๑๐ ข้อ นำ ๓ ข้อ

แต่นั่น ในเบื้องต้นยังไม่เป็นเหตุนำไปสู่การกวาดล้าง แบบที่เชื่อกันว่าจะทำกันเหมือนสมัย ๖ ตุลา ๑๙

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี ๒๕๔๘-๒๕๕๒

นปช.-เสื้อแดง ชุมนุมเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๓

กปปส.ชุมนุม ๒๐๔ วัน ระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗

มีข้อสังเกตคือทุกม็อบ ปิดใจกลางเมือง สถานที่ราชการ เหมือนกัน

ม็อบเสื้อแดงเลยเถิดถึงขั้นเผาเมือง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่อย่างใด

ก่อนที่นิสิต นักศึกษา จะไปต่อ ด้วยเงื่อนไขปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้คิดกันรอบคอบแล้วหรือยังว่า จะเดินไปทางไหน
ใช้เวลาเท่าไหร่?

บวกกับปัจจัยเสริม…..
โควิด-๑๙ อาจระบาดรอบ๒
และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
หากทุกสถานการณ์มาบรรจบในเวลาเดียวกัน ความยากลำบากของคนไทยทั้งชาติจะหนักหนาแค่ไหน วาดภาพในสมองกันหรือยัง?

ครับ…วานนี้ (๑๖ สิงหาคม) กลุ่มนิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ชุมนุมกันแน่นถนนราชดำเนิน

การต่อสู้ที่ประกาศว่า “ทะลุเพดาน” ได้เตรียมใจไว้หรือยังว่า อาจเป็นเป็นเหตุนำไปสู่การนองเลือดได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม

จะมีประโยชน์อะไรหากแต่ละฝ่ายมานั่งโทษกันเองทีหลังว่า เพราะรัฐใช้กำลังเข้าปราบปราม

อีกฝ่ายสร้างเงื่อนไขล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ประชาชนอีกคณานับ ยังต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่ประเทศไทยต่อไป

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษา และจดจำเป็นบทเรียน
อย่าใช้ประวัติศาสตร์เป็นแบบอย่างเพื่อทำลาย เพราะอนาคตที่บอกว่าเป็นของคนรุ่นใหม่ ก็จะวนเป็นเกลียวกลับไปสู่อดีต
ไม่มีใครชนะใคร
แต่คนไทยแพ้ด้วยกันทั้งหมด

 

 


Written By
More from pp
ทีมแพทย์ศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่หายจากอาการป่วยโรคเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พันเอก โชคชัย ขวัญพิชิต รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล ร่วมกับ เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ, เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนาในพื้นที่
Read More
0 replies on “อะไรคือ ๖ ตุลา ๑๙?”