‘สุชาติ ชมกลิ่น’ พร้อมด้วย ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ 2 รัฐมนตรีป้ายแดง ถือฤกษ์ดี เวลา 07.29 น.เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ในโอกาสรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 16 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานคนแรก ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา
เมื่อเวลา 07.29 น. วันที่ 14 สิงหาคม 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ถือฤกษ์เดินทางเข้ากระทรวงแรงงานหลังถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน
ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และเชิญพระพุทธรูปเข้าในห้องทำงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน 15 ชั้น จากนั้นลงนามในแฟ้มเอกสารรับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรก
โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวแสดงความยินดีและมอบแจกันดอกไม้ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยได้ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานอีกด้วย
จากนั้น รมว.แรงงาน ได้ไปสักการะพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ห้องแสดงนิทรรศการ “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” บริเวณ ชั้น 2 อาคารศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบให้ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
รวมทั้งเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และทรงพระปรีชาสามารถด้านการช่าง รวมทั้ง ทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน
สำหรับนายสุชาติ ชมกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2517 เป็นชาวจังหวัดชลบุรี ชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตอยู่กับครอบครัวที่ลำบาก “คุณพ่อ” มีอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน “คุณแม่” มีอาชีพเป็น “แม้ค้าขายขนมครก” อยู่หน้าตลาดหนองมน ทำให้ต้องช่วยกันทำมาหากินมาตลอด
เริ่มตั้งแต่แบกน้ำตาล ข้าวสารอยู่ที่ท่าเรืออ่าวไทย รับเหมาเป็นกุลี ทำเรือสินค้าส่งออกข้าว น้ำตาลอยู่บนเกาะสีชัง เป็นเซลล์ขายบ้าน ทำงานธนาคาร ใช้ความรู้จากวิชาการบัญชีเรียนรู้วิธีการสินเชื่อมาทำหมู่บ้านจัดสรรด้วยตนเอง จนวันนี้ได้ก้าวมาเป็นรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนที่ 16 สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเกริก
ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ปี 2548 เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแสนสุขปี 2551 เป็นสมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ปี 2554 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เป็นรองประธานกรรมาธิการ กสทช. ปี 2554 เป็นกรรมาธิการสามัญงบประมาณ ปี 2555, 2556 และ 2557 นอกจากนี้ในปี 2557 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี และปี 2562 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2554 และประถมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. 2555
“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระผมและครอบครัวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นล้นพ้น และจะขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อม ผมมาเป็นผู้รับใช้แรงงาน วันนี้ผมมาตอบโจทย์ของการจัดตั้งกระทรวงแรงงานขึ้นมา คือ กระทรวงเพื่อผู้ใช้แรงงาน”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 2516 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถิติศาสตบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย
และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เศษฐศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) วิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าและเป็นที่ปรึกษา ด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย พ.ศ. 2556 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2562