เมื่อวันที่ 13 ส.ค.63 ในการประชุมสภา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงความคิดเห็นต่อรายงานการศึกษาแนวทางในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติฉบับนี้ว่า จากการที่ได้อ่านและได้ศึกษาเหมือนกับว่ารายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่มีเนื้อหาและการศึกษารูปแบบหนึ่ง
ส่วนข้อสังเกต เหมือนนำเอาข้อสังเกตของรายงานฉบับอื่นมาต่อ เพราะมีหลายประเด็นที่เนื้อหาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับข้อสังเกต ในบทสรุปของรายงานฉบับนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่ก็เต็มไปด้วยความน่าสงสัย ความเคลือบแคลงใจ ตามที่ได้เน้นย้ำไป
คือความสงสัยของข้อสังเกตตามที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้เขียนไว้ในรายงานฉบับนี้ ยกตัวอย่าง การจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ กราบเรียนท่านประธานว่าผมเห็นด้วยที่น้องๆ นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัว อยากมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศไทยให้ดีขึ้น แต่การแสดงออกต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ ต้องอยู่ในหลักของกฎหมาย
จากประสบการณ์ทางการเมืองเห็นมาหลายม็อบ เห็นมาหลายการชุมนุม เบื้องหน้าใช้น้องๆ ใช้คนปกติมาร่วมชุมนุม แต่เบื้องหลังมักจะมีกลุ่มหรือองค์กรเข้ามาสนับสนุนเพื่อผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งเสมอ เป็นความเห็นส่วนตัว ผมไม่ได้บอกว่าน้องๆ นิสิตนักศึกษามีคนอยู่เบื้องหลัง แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักจะเป็นแบบนั้น
ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของสภาแห่งนี้ก็มีการตื่นตัวทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่ง ส.ส.มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาซึ่งกำลังจะสำเร็จและกำลังจะส่งเรื่องให้สภาพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ยังได้เห็นความคิดเห็นของรัฐบาลว่ารัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ รัฐบาลก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นเผื่อวันหน้าจะมีการแก้ไขต่อไป
ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีพี่น้องเห็นชอบกว่า 16 ล้านเสียง และทำประชามติผ่านไปแล้ว ซึ่งวันที่ทำประชามติตนไม่ได้เลือกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เห็นว่า 16 ล้านเสียงซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศเลือกก็ต้องยอมรับ ส่วนประเด็นที่จะมีการแก้ไขก็ขอย้ำว่าจะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
นอกจากนี้ ส.ส.อรรถกร กล่าวว่าอีกประเด็นที่อยากอภิปราย คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและสิทธิของผู้ชุมนุม ซึ่งเห็นด้วยกับการแสดงออกความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ แต่การแสดงความคิดเห็นไม่ใช่จะพูดได้ทุกเรื่อง ส่วนเรื่องกฎหมายถ้าจะยกมาบางข้อบางมาตราไม่สมบูรณ์ต้องดูกฎหมายหลายๆ ฉบับประกอบกัน กฎหมายบางฉบับมีร้อยๆ มาตรา
ดังนั้นเราต้องดูว่าเราให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกก็จริง แต่การแสดงออกต้องอยู่ในขอบเขต อยู่ในกฎหมาย ซึ่งผมเห็นข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษา ก็เป็นห่วงเพราะเกินกรอบรัฐธรรมนูญ เกินกรอบกฎหมายที่เราสามารถทำได้ใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ชัดเจนว่าประเทศเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ได้
และประเด็นสุดท้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผมไม่รู้มีกี่คน แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือคนที่เรียนอยู่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ 10 ข้อที่เรียกร้อง ดังนั้นผมเห็นว่ารายงานฉบับนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้ ส.ส.เห็นชอบ ซึ่งยังต้องมีการแก้ไข