ถอดสมการ “หุ้นสื่อ” ๓๒+๓๓ ส.ส.

“ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องสอบคุณสมบัติ “หุ้นสื่อ” ๓๒ ส.ส.รัฐบาลไปวันก่อน

                เมื่อวาน (๒๗ มิ.ย.๖๒) ส.ส.ฝ่ายค้านก็เจอบ้าง!

                พลังประชารัฐยื่น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ผ่านประธานสภาฯ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ๓๓ ส.ส.เช่นกัน

                ในจำนวนนั้น ดูเหมือน “ส.ส.อนาคตใหม่” มากกว่าเพื่อน คือ ๒๑ คน!

                “พล.ท.พงศกร รอดชมภู”

                ผู้ถือหุ้น “บริษัท ชายนิ่งสตาร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด” ที่อ้างหุ้นสื่อเพราะเป็น “แบบฟอร์มสำเร็จรูป” นั้น ได้รับเกียรติวินิจฉัยด้วย

                ถ้าดูตามแนวพิจารณาวินิจฉัย “คุณสมบัติ ๔๑ ส.ส.” ของศาลฯ วานซืน    

                ผมว่าทั้ง “๓๒ ส.ส.รัฐบาล” และทั้ง “๓๓ ส.ส.ฝ่ายค้าน” ที่เพิ่งถูกพลังประชารัฐยื่นตรวจสอบ

                ก็รู้แล้ว ว่า…….

                ตัวเองขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.ในประเด็น “หุ้นสื่อ” หรือไม่?

                โดยเฉพาะ ๓๓ รายหลัง เมื่อดูตามแนวเฉลยข้อสอบนี้ ยิ่งรู้ รายไหน “จะหลุด-จะติด”?

และพลังประชารัฐ “ผู้ร้อง” เอง ก็ต้องรู้จากเอกสารหลักฐานที่ยื่นประกอบคำร้องไปเหมือนกัน

                ว่าครบถ้วน “เข้าเงื่อนไข” พอที่ศาลจะสั่งหรือไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่?

                อ่านตัวอย่างข้อสอบ “มติศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อวานซืนอีกทีให้ขึ้นใจก็ได้ 

                “…….ในคดีนี้ ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง (อนาคตใหม่ยื่นผ่านประธานสภาฯ ส่งศาลโดยตรง-เปลว)

                คงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น

                 ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ (แบบ สสช.๑) และแบบนำส่งงบการเงิน ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด

กรณีจึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้อง

                ในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง ๓๒ คนหยุดปฏิบัติหน้าที่

อนึ่ง คดีที่ กกต.ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลง ได้ผ่านการสอบสวนของ กกต.

                ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

                โดยมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่น แบบ สสช.๑ ระบุสินค้าหรือบริการที่ประกอบการ ว่าประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์ หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย

                ประกอบกับแบบนำส่งงบการเงินที่บริษัทของนายธนาธร ผู้ถูกร้อง ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ๒๕๕๔-๒๕๕๘ ระบุไว้ชัดเจนว่า

                มีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา

                กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายธนาธร ผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้อง

                ศาลฯ จึงได้มีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง

                ครับ…

                ประเด็นชัดๆ ที่ต้องเข้าใจ คือ ส.ส.คนไหนจะเข้าข่ายถือหุ้นสื่อหรือไม่

                ศาลฯ บอก ดูเอกสารหลักฐาน ๓ อย่างประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

                -หนังสือบริคณห์สนธิ คือการตั้งบริษัท

                -แบบ ว.คือแบบวัตถุที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจการค้า

                -สสช.๑ แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจฯ

                และที่สำคัญ คือ……..

                -ส.บช.๓ แบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด

                ที่ ส.ส.บางคนอ้างว่า ใช้ “แบบฟอร์มสำเร็จรูป” ของทางราชการ จดตั้งบริษัท วัตถุที่ประสงค์มีตั้ง ๔๐-๕๐ ข้อ ครอบจักรวาลไปหมด

                แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำสื่อ ประกอบธุรกิจการค้าอย่างอื่น จะเหมาว่าถือหุ้นสื่อได้อย่างไรนั้น

                ตรงนี้ คนไม่รู้ หรือชาวบ้านทั่วไป ก็จะบอกว่า…เออ นั่นน่ะซี น่าจะดูการทำธุรกิจการค้าจริงๆ มากกว่ายึดตามตัวหนังสือใน ๔๐-๕๐ ครอบจักรวาลนั่น!

                วันนี้ก็มาทำความเข้าใจกันซะเลย จะได้ไม่ไขว้เขว

                ที่ว่าแบบฟอร์มทางการครอบจักรวาลนั้น เป็นความจริงครึ่งเดียว

                การตั้งบริษัท ก็ต้องระบุว่า จะทำธุรกิจการค้าใด ซึ่งมีวัตถุที่ประสงค์ให้เลือกจดหลายประเภท

                ใครจะทำธุรกิจอะไร ก็เลือกจดเอา ที่เรียก แบบ ว.

                แบบ ว.คือที่อ้างกันว่าเป็น “แบบฟอร์มทั่วไป” ใครจะจด ๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ ข้อ ก็เลือกจดไป

                ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เขามีไว้ให้เลือกเสร็จสรรพ

                แต่คุณต้องแจ้งวัตถุที่ประสงค์หลัก อย่างน้อย ๒ ข้อ ที่ประกอบธุรกิจการค้าด้วย

                อันนี้แหละเรียกว่า สสช.๑ อย่างที่ศาลฯ บอก!

                ฉะนั้น ที่อ้างกันเรื่อยเปื่อยว่า จดตามแบบฟอร์มครอบจักรวาลนั้น ไม่ถูกเสียทีเดียว

                เพราะจริงๆ แล้ว ใน ๔๐-๕๐ ข้อนั้น ผู้จดตั้งบริษัทจะต้องจดแจ้งวัตถุที่ประสงค์ที่จะประกอบธุรกิจการค้าจริงๆ ด้วย อย่างน้อย ๒ ข้อ

                ตัวอย่างจาก ส.ส.ปารีณา เธอจดวัตถุที่ประสงค์ แบบครอบจักรวาลไป ๒๖ ข้อ ซึ่งทั้ง ๒๖ ข้อที่เธอเลือกจด ก็ไม่มีทำสื่ออยู่แล้ว

                แต่เธอก็แจ้งวัตถุที่ประสงค์จะทำ ที่เรียก สสช.๑ “รับจ้างเลี้ยงไก่ ทำฟาร์มไก่” ศาลจึงยกคำร้องนั่นไง

                สรุป ที่ “ชี้เป็น-ชี้ตาย” ว่า……..

                บริษัทคุณ จดวัตถุที่ประสงค์ไว้ ๔๐-๕๐ ข้อ รวมถึงการทำสื่อด้วยนั้น จริงๆ แล้ว บริษัทที่คุณถือหุ้น ทำธุรกิจการค้าอะไรแน่?

สสช.๑ กับ ส.บช.๓ จะเป็นตัว “บ่งชี้-บอกชัด” ว่าเข้าข่ายถือหุ้นสื่อหรือไม่?

                ประเด็นจดไว้แบบครอบจักรวาลหรือไม่ครอบ ยังไม่ใช่ สาระหลักในการชี้ว่า ถือหุ้นสื่อหรือไม่ถือ

                จนกว่าได้เห็น สสช.๑ ว่าจดวัตถุที่ประสงค์หลักไว้อย่างไร และจนกว่าได้เห็น ส.บช.๓ บ่งย้ำ

                ว่าขณะนั้น บริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการใด?

                เพราะ ส.บช.๓ คือแบบส่งงบการเงิน “แต่ละปี” ซึ่งงบการเงินย่อมบ่งบอกในตัวมันเองผ่าน “รายรับ-รายจ่าย” ว่าบริษัทประกอบกิจการใด

                และยิ่งกว่านั้น ในแบบส่งงบการเงิน คือ ส.บช.๓ เขายังให้ต้องบ่ง “ประเภทธุรกิจ” ที่ทำลงไปด้วย

                และข้ออ้างที่ได้ยินเสมอ คือ ก็จดทิ้งไว้นานแล้ว ไม่ได้ประกอบกิจการใด

                หรือไม่ก็ บริษัทเลิกไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปแจ้งเลิก!

                ก็อ้างกันไป ……..

                แต่คนประกอบธุรกิจการค้าย่อมรู้ เมื่อตั้งบริษัทแล้ว จะประกอบหรือไม่ประกอบกิจการ รวมถึงยังไม่แจ้งเลิกบริษัท

                ในแบบนำส่งงบประจำปี จะต้องมีใบ ส.บช.๓ นี้ ปะหน้าไปด้วยทุกครั้ง

                ฉะนั้น เมื่อเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติทั้งส่งผลได้-ผลเสียต่อตัวเองโดยตรง แต่ไม่นำพา เมื่อมีปัญหา เที่ยวโทษ “แบบฟอร์มครอบจักรวาล”

                มันถูกต้องมั้ย?

                อีกอย่าง วัตถุที่ประสงค์นั้น สามารถเปลี่ยนได้ให้ตรงตามธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปทำ

                เช่นตอนจด ประกอบธุรกิจอย่างหนึ่ง มาปีนี้ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็ไปยื่นเปลี่ยนได้

                และตามระเบียบ ต้องยื่น สสช.๑ ทุกครั้ง ที่เปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์อยู่แล้ว!

                ทั้งหมดนี้ ส.ส.คนไหนที่ถูกตรวจสอบเรื่องหุ้นสื่อ ดูตามนี้ ก็รู้ ตัวเองรอดหรือไม่รอด

                เช็กใบบริคณห์สนธิ, ใบ สสช.๑, ใบ สบช.๓ และใบวัตถุที่ประสงค์ คือแบบ ว.ของตัวเองดูได้

                อ้อ…เตรียมไว้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบคำแก้ข้อกล่าวหาด้วย ถ้าศาลฯ รับคำร้อง

                กรณี “หุ้นสื่อ” ธนาธรนั้น เขาแอดวานซ์ไปแล้ว คือเรื่องเดียวกัน แต่ไปคนละประเด็น

                ทั้ง ๓๒ +๓๓ ส.ส.ประเด็นอยู่ตรงว่า บริษัทที่ตัวเองมีหุ้นนั้น ประกอบธุรกิจด้านสื่อหรือไม่?

                แต่ธนาธร “บริษัท วี-ลัค มีเดีย” ของเขา ชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่าทำธุรกิจสื่อ

                ตอนนี้ มาถึงขั้นพิสูจน์ว่า ธนาธรถือหุ้นสื่ออยู่หรือไม่ขณะไปสมัคร ส.ส.เมื่อ ๖ กุมภา.๖๒

                ธนาธร “โอนหุ้น” ไปให้แม่-ให้เมียหมดแล้วตามอ้างหรือยัง?

                ถ้ายัง….
คือไปโอน “หลังวันยื่นสมัคร” ก็ขาดคุณสมบัติ!

                ตอนนี้ คดีธนาธร ผ่านขั้นตอน สสช.๑, ส.บช.๓ แบบ ว.ไปแล้ว ไปถึงตอนพิสูจน์ โอนก่อนหรือโอนหลังสมัคร ส.ส.

                ธนาธรอ้างว่า โอนตั้งแต่ ๘ มกรา. คือก่อนสมัคร ส.ส. ๖ กุมภา.

                แต่ที่พี่ศรีไปร้อง กกต.และส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยหลักฐาน บอจ.๕ ว่าโอนกันเมื่อ ๒๑ มีนา.๖๒ คือหลังจากสมัครแล้ว!

                ครับ….

                เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็พยายามทำความเข้าใจด้วยละกัน กรณีอย่างนี้ ไม่ยาก-ไม่ซับซ้อนอะไร ยุติได้ด้วยเอกสารหลักฐานตามที่บอกนั่นแหละ

                มีอย่างเดียวที่ไม่ยุติ คือ………

                ควาย ๕ ตัวรวมกัน ยังไม่เท่า ๑ ดอกเตอร์ตะแบง!. 

Written By
More from pp
กรมการท่องเที่ยว เผยผลสำเร็จการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ปักกิ่ง เจรจาดึงผู้สร้างรายใหญ่ของจีนลงทุนในไทยกว่า 750 ล้านบาท
กรมการท่องเที่ยว เปิดเผยผลสำเร็จจากการเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 21 – 27 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
Read More
0 replies on “ถอดสมการ “หุ้นสื่อ” ๓๒+๓๓ ส.ส.”