มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 15 ก.ค.
คณะกรรมการสอบสวน 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67
โดยจะเสนอ ต่อ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง วินิจฉัย และหากเห็นความมีความผิด จะเสนอให้กกต. ทราบและ นายทะเบียน ฯ จะส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคต่อไป
เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 29 ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประกอบมาตรา 28 และ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 (3) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน่านี้ กกต. ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ชี้แจง รวมถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีตรองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมช.สาธารณสุข ที่อยู่ในที่ประชุมบ้านจันทร์ส่องหล้า และบัดนี้เป็นฝ่ายค้าน ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแก่ กกต. ด้วย
สำหรับผู้ร้องดังกล่าว มีทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย ผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้อง