31 ก.ค.63 นายรังสิต เหล่าพิมพา หัวหน้าชุดเฝ้าระวังช่วยเหลือลูกช้าง ของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประจำหอต้นผึ้ง รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 18.00-19.00 น. ปรากฏว่ามีช้างตัวผู้เดินเข้ามาสำรวจที่บริเวณคอกก่อน 1 ตัว มีการร้องตอบรับกันในช่วงเวลาแรก และช้างตัวผู้มีการเดินเอางวงมาสัมผัสกับงวงตัวลูกช้างพลัดหลง หลังจากนั้นก็เดินกลับไปหาฝูงที่หากินอยู่บริเวณข้างหอต้นผึ้ง
ต่อมาเวลา 19.18-21.30 น. มีกลุ่มโขลงช้าง วนกลับมาที่หน้าคอกลูกช้างพลัดหลงอีกรอบ รวมแล้วนับได้ 18 ตัว มีการส่งเสียงร้องตอบโต้กันบ้างในบางครั้งแต่ไม่บ่อยนัก ตัวเล็กที่อยู่ในฝูงมีพฤติกรรมที่อยากจะเข้ามาเล่นกับลูกช้างพลัดหลง แต่โดนช้างในโขลงปรามๆ โดยดึงหางไว้บ้าง ต้อนให้เกาะกลุ่มอยู่ในโขลงบ้าง ส่วนลูกช้างพลัดหลงยังแสดงอาการนิ่ง และเงียบ มีการร้องกลับไปบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น
-เวลา 21.30-23.00 น. กลุ่มโขลงช้างขยับตัวลงไปเล่นน้ำและหากินที่ลำห้วยใกล้ๆ คอกลูกช้าง
-เวลา 23.00-00.30 น.มีวัวแดง เข้ามาในพื้นที่ 1 ตัว หลังจากนั้นเวลา 00.50 น. มีเสือโคร่ง ตามเข้ามาในพื้นที่ 1 ตัว ทีมงานเฝ้าดูตลอดอย่างไม่ให้คลาดสายตา ฟังเสียงกลุ่มโขลงช้างขยับห่างออกไป แต่ยังคงได้ยินเสียงแว่วมาเป็นระยะๆ สื่อให้ทราบว่าห่างออกไปไม่มากนัก
วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
-เวลา 05.00-07.30 น. เริ่มได้ยินเสียงโขลงช้างหักไม้ไผ่และส่งเสียงร้อง ดังเข้ามาในระยะใกล้หอต้นผึ้ง อีกครั้ง สักพักเสียงค่อยๆ เงียบลงอีก
-ช่วงเวลา 10.15-15.35 น. ได้ยินเสียงโขลงช้างส่งเสียงร้องดังมาในระยะใกล้รอบหอต้นผึ้ง ลูกช้างพลัดหลงร้องตอบบ้างเป็นครั้งคราว
ขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยการเฝ้าดูแลลูกช้าง จัดชุดเจ้าหน้าที่จุดสกัดที่ 3 (ห้วยก้อย) ของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 นาย เเละเจ้าหน้าที่จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 1 นาย และเสริมชุดเฝ้าระวังเพิ่มเติม อีก 5 นาย ไว้เพื่อเป็นชุดสำรองเคลื่อนที่เร็วในการเฝ้าระวังช้างโทนและกลุ่มสัตว์ผู้ล่า
การที่ช้างโขลงแม่เข้ามาหาลูกช้างแบบใกล้ชิต และมีช้างบางตัวมาแตะงวงกับลูกช้างแล้ว ดร. ศุภกิจ พินิจพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการปล่อยลูกช้างคืนป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชบอกว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดี บอกเจ้าหน้าที่ว่า อย่าตัดใจว่าโขลงไม่รับแล้ว ให้ใจเย็นๆ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ช้างจะใช้เวลาในการสื่อสารกัน บางตัวเร็ว แต่บางตัวใช้เวลานานหลายวัน ส่วนตัวเชื่อว่า ช้างโขลงแม่จะวนมารับลูกช้างไปอยู่กับฝูง จนสำเร็จ
เวลาประมาณ 14.50 น. นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ส่งทีมเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ มาทำการตรวจสอบระบบวิทยุ VHF ที่ติดอยู่ตรงขาหลังขวาของลูกช้างพลัดหลง ตรวจสอบพบว่าสามารถตอบสนองกลับมาของสัญญานได้ไกลสุดที่ระยะ แค่ 80 เมตร จะได้ประสาน สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แก้ไข หรือเปลี่ยนวิทยุตัวใหม่ เพื่อไว้ใช้ตามติดลูกช้าง กรณีแม่ช้างมารับได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช