นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยภายหลัง ร่วม “การประชุมหารือผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด – 19”
ระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กับ ผู้แทนสมาคมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 9 บริษัท ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ว่า
จากมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด – 19 เข้าสู่ประเทศไทย และมาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ได้ส่งผลเชื่อมโยงต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้นายจ้าง สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบ MoU ได้ รวมทั้งการดำเนินการกับกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562
ดังนั้น เพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน จึงเชิญสมาคมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ มาร่วมให้ข้อมูลสภาพปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย
สมาคมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าว 4 สมาคม ได้แก่ นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว นายกสมาคมการนำเข้าแรงงาน นายกสมาคมการค้าพัฒนาแรงงาน และ นายกสมาคมการค้าผู้นำเข้าและให้บริการแรงงาน ต่างด้าว
และบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท ผู้รับอนุญาตบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงาน ในประเทศ ทีดับบลิว เลเบอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท เดอะเฟิร์ส กูด แมน กรุ๊ป จำกัด บริษัท ที.เอ็ม.จี เอเจนซี่ จำกัด บริษัท จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แอ๊ดวานซ์ เวิร์คเกอร์ จำกัด
ซึ่งได้เสนอแนะให้กระทรวงแรงงานกำหนดมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ยังคงอยู่ในราชอาณาจักรประกอบด้วย แรงงาน MoU ครบวาระการจ้างงาน แรงงานที่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 และแรงงาน MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดด้วยผลของกฎหมาย ม. 50 ม. 53 ม. 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับฟังข้อเสนอ และได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน เร่งดำเนินการหาแนวทางปฏิบัติต่อไป
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด – 19 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น
การผ่อนปรนแนวทาง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 โดยอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวและทำงานได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MoU และแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดน ซึ่งการอนุญาตทำงานสิ้นสุด (ครบวาระการจ้างงาน) แต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมประชุมกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยต้องลงทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ ประเทศต้นทาง เพื่อขอรับหนังสือรับรองการเดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และต้องแสดงเอกสารใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ประกันสุขภาพ และต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ส่วนหนึ่งที่กรมการจัดหางานจะต้องกำหนดมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลัง 31 กรกฎาคม 2563 ต่อไป