โอบกอดโรคซึมเศร้า…ด้วยความเข้าใจ

“อยากหายไปจากตรงนี้ ไม่ได้อยากตายหรอกนะ แค่ไม่อยากอยู่ตรงนี้ ไม่อยากทรมานอีกแล้ว…

บางคนเคยรู้สึกแบบนี้ และคิดว่าคงรับมือกับห้วงเวลาแบบนี้ไหว เพราะเคยเป็นบ่อยแล้ว หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่ไม่เอะใจ รู้ตัวอีกทีเจ้าของประโยคนี้ ซึ่งอาจเป็นคนที่เรารักก็จากโลกนี้ไปแล้ว, เพราะโรคซึมเศร้าพรากเขาไปตลอดกาล

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เราได้ยินเรื่องโรคซึมเศร้ากันบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวคนดังทั้งไทยและต่างประเทศฆ่าตัวตายจากโรคนี้ และยิ่งรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเข้ามาทุกทีเมื่อคนรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน คนรัก ก็เริ่มเป็นโรคนี้กันมากขึ้น

แต่กระนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียทีว่าจริงๆแล้วโรคซึมเศร้าเป็นยังไง ทำไมปัจจุบันคนถึงได้ป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ที่สำคัญคือ อายุของผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนโรคซึมเศร้าได้ชื่อว่าเป็น “โรคแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ “โรคยุคดิจิทัล”

นี่คือคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ

  • ใครเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด
  • ฉันรู้สึกหดหู่เหลือเกิน วันๆไม่อยากทำอะไรเลย นี่ฉันเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่านะ
  • ถ้าสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าควรทำอย่างไรดี
  • เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้าฉันควรทำอย่างไรถึงจะช่วยเพื่อนได้…สักนิดก็ยังดี
  • โรคซึมเศร้ารักษาหายจริงไหม แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ

\หนังสือ “ซึมเศร้า…เล่าได้” จะพาคุณไปรู้จักและทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า ผ่านการเดินทางของ “ฉัน” กับเจ้าแมวดำหางขดที่ชื่อ “ตัวเศร้าซึม” ตั้งแต่อาการบอกเหตุ การประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง หนทางการรักษา  ตลอดจนการรับมือกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคนี้ด้วยภาพประกอบน่ารัก ภาษาอ่านง่าย เป็นมิตร พร้อมคำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริง

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย หลินอวี๋เหิง ที่มีคุณแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และขณะที่เธอหาข้อมูลเพื่อดูแลคุณแม่ เธอเองก็ถูกโรคซึมเศร้าเข้าโจมตีเช่นกัน โชคดีที่ไหวตัวไปพบจิตแพทย์ทัน เธอจึงเอาชนะโรคนี้ได้  เธอจึงอยากเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เป็นเหมือนเพื่อนที่คอยอยู่ข้างๆทุกคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ ส่วนภาพประกอบน่ารักในเล่มวาดโดย ไป๋หลิน ซึ่งได้รับรางวัล Red Dot Design Award 2016 สาขาออกแบบนิเทศน์ศิลป์จากประเทศเยอรมนีด้วย

การตื่นนอนตอนเช้าเป็นเรื่องที่ยากมาก อยากซุกอยู่บนเตียง ไม่อยากคุยกับใคร รู้สึกไม่อยากอาหารแถมผอมลงมาก ฉันรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีสิ่งน่าสนใจอีกต่อไปแล้ว ฉันต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้นอนหลับตอนกลางคืน แต่ทำอย่างไรก็นอนไม่หลับ ฉันรู้ดีว่าควรมีสติเพราะยังต้องทำงาน ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ แต่มันไม่มีทางจริงๆ ไม่มีทางที่อนาคตจะดีขึ้น

ด้านบนคือตัวอย่างความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่อาการและสถานการณ์ที่ผู้ป่วยแต่ละคนพบเจอก็แตกต่างกันไป นอกจากจะเล่าที่มาที่ไปของโรคซึมเศร้าและย่อยข้อมูลวิชาการให้อ่านเข้าใจง่ายแล้ว ยังมีเช็กลิสต์สังเกตอาการด้วยว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าไหม ถ้าคุณมี 5 อาการขึ้นไปใน 9 อาการนี้ อาจมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

  1. รู้สึกเศร้าหมองเกือบตลอดทั้งวัน
  2. ขาดความสนใจเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  4. นอนไม่หลับ
  5. รู้สึกตื่นเต้นหรือเอื่อยเฉื่อยมากเกินไป
  6. รู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีแรง
  7. รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินไป
  8. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการจดจ่อลดน้อยลงหรือเกิดความลังเลใจได้ง่าย
  9. คิดถึงความตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายจนถึงขั้นวางแผนฆ่าตัวตาย

นอกจากวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นและเช็กลิสต์แล้ว เนื้อหาภายในเล่มยังมีข้อมูลสถานรักษาและบุคลากรต่างๆที่จะช่วยให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วย มีตัวอย่างเคสผู้ป่วยในวัยต่างๆ วิธีเยียวยาด้วยตัวเองที่ได้ผล รวมทั้งมีตัวอย่างคนดังของโลกหลายคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็น เจ.เค. โรว์ลิ่ง แอนน์ แฮททาเวย์ บียอนเซ โนวส์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ และ อับราฮัม ลินคอร์น เป็นต้น เขาและเธอเหล่านี้ผ่านฝันร้ายและอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้าได้อย่างไร ในหนังสือเล่มนี้มีคำตอบ

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศใด วัยไหน เป็นคนที่อยากรู้จักโรคซึมเศร้าเพื่อทำความเข้าใจ เป็นคนที่สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายป่วยหรือเปล่า เป็นคนที่มีคนรอบตัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วอยากรู้วิธีดูแลเขา อ่านหนังสือ “ซึมเศร้า…เล่าได้” เพื่อรู้เท่าทัน และช่วยเหลือคนที่เรารักอย่างทันท่วงที

 

###

สั่งซื้อหนังสือ “ซึมเศร้า…เล่าได้” โทร. 0-2622-3000 กด 0 หรือ  www.nanmeebooks.com, www.facebook.com/nanmeebooksfan ติดตามข่าวสารและหนังสือที่น่าสนใจอีกมากมายเพียง ADD LINE @nanmeebooks และ @nmbadult

 

Written By
More from pp
หมอประสิทธิ์คาด กลางเดือนกันยายนสถานการณ์โควิด​ จะเริ่มดีขึ้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ส.ค.64 ถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและแนวโน้มในอนาคตโดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้
Read More
0 replies on “โอบกอดโรคซึมเศร้า…ด้วยความเข้าใจ”