กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอเอเชีย (AVIA) และทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จัดการประชุมเรื่องการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดิจิทัลคอนเทนต์ขึ้น ที่กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดนนทบุรี
การประชุมดังกล่าว มีผู้ร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 100คน
การละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะการใช้กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์โดยผิดกฎหมาย (ISD) ได้สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจไทยและต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คอนเทนต์อย่างถูกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย หรือบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจ หรือขยายโอกาสทางธุรกิจได้ เพราะประสบปัญหาจากการละเมิดลิขสิทธิ์
การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสให้ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์มาร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดฯ ในปัจจุบัน และแนวทางการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย รวมถึงอภิปรายกลยุทธ์ในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน เพิ่มมูลค่า ให้แก่สินค้าและบริการ ให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้
ประกอบกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2561 ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยมีมูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
รัฐบาลจึงให้ความสำคัญทั้งในด้านการส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์ และการปกป้องสิทธิของประกอบธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ให้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งออนไลน์และออฟไลน์
โดยที่ผ่านมามีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวน้อง ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ในเรื่องการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลแล้วยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
นายจุลทัยศาลิคุปต ผู้อำนวยการฝ่ายรายการกีฬา บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทรูวิชั่นส์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์มาโดยตลอด และได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์
อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ด้านใดก็ตาม ทั้งด้านภาพยนตร์ เพลง สาระบันเทิง โดยเฉพาะ ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย ตั้งแต่ฟุตบอลโลก รวมถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่กำลังมีการถ่ายทอดสดกันอยู่ ซึ่งรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น จะแตกต่างจากในอดีตที่ละเมิดผ่านเคเบิล มาเป็นช่องทางอินเทอร์เน็ต และโมบายแอพพลิเคชั่น ทำให้การตรวจจับทำได้ยากยิ่งขึ้น
หากประเทศไทยยังคงละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่แบบนี้ ก็จะส่งผลกระทบให้เจ้าของลิขสิทธิ์ระดับโลกฟ้องร้องยุติการส่งสัญญาณการแข่งขันมายังประเทศไทย ทำให้แฟนบอลชาวไทยไม่สามารถติดตามรับชมการแข่งขันได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงคอนเทนต์คุณภาพอื่นๆ จากต่างประเทศอีกด้วย
หากคนไทยเข้าใจและเคารพต่อกฎหมายลิขสิทธิ์กันมากขึ้น นอกจากช่วยจะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของต่างประเทศแล้วยังสามารถช่วยปกป้องลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของไทยได้อีกด้วย พร้อมทั้งยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยทุกแขนงให้เติบโตเทียบเท่ามาตรฐานสากลได้ต่อไป
การประชุมเรื่องการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ มีการหารือเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิทัล และความเสี่ยงของผู้บริโภค ประสิทธิภาพของมาตรการการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ การใช้เทคโนโลยีในการป้องกันการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา และการทำงานร่วมกันกับตัวกลางเพื่อป้องกันการรับเงินจากรายได้ที่ผิดกฎหมาย
หลายประเทศพยายามหามาตรการมารับมือกับการขโมยคอนเทนต์ ซึ่งมาตรการมีอยู่หลายวิธีและต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่เป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะได้ปรับใช้มาตรการที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศให้เหมาะสมกับประเทศไทย เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว
กล่าวโดย คุณหลุยส์ บอสเวล ประธานกรรมการของสมาคมอุตสาหกรรมวีดีโอเอเชีย (AVIA) ผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพการสัมมนา
ม.ร. นีล เกน ผู้จัดการทั่วไทยของพันธมิตรต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (CAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ AVIA กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขโมยคอนเทนต์ได้สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกด้านที่ผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐอาจมองข้ามคือการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิทัล นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ความอยากได้ของฟรีหรือจ่ายค่าสมาชิกราคาถูกเพื่อดูคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่แท้จริงจากการติดมัลแวร์