ล้างบางนักการเมือง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อีกหนึ่งจุดตายของรัฐบาล…

ยังไม่ลืมนะครับ สัปดาห์ก่อน ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สส.พรรคประชาชน ที่ยื่นสอบ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาผู้แทนฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ กรณีงบปี ๒๕๖๙ ของสำนักงานเลขาธิการสภา

แต่…พรรคส้มไม่เรียกนิติสงคราม

ทั้งๆ ที่สามารถนำไปสู่การล้างบางนักการเมืองได้

รายละเอียดของเรื่องตามนี้ครับ..

สส.พรรคส้ม ๑๒๑ คน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคสาม กรณี “พิเชษฐ์” เป็นผู้ให้ความเห็นชอบการจัดทำโครงการ และให้มีการเสนองบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๓ โครงการ ที่นายพิเชษฐ์มีส่วนโดยทางตรงและทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘

และในกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีคำขอเสนอโครงการทั้ง ๓ โครงการดังกล่าวอีกครั้งในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๙ เป็นการเสนอของบประมาณด้วยโครงการที่มีรูปแบบเดียวกันและต่อเนื่องกัน

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคสองบัญญัติไว้ว่า…

“…ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้…”

การไต่สวนพยานบุคคลจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ กรกฎาคมนี้

คำร้องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย

นั่นคือวันที่ ๑ สิงหาคม

ครับ…นี่คือคร่าวๆ ที่มาของคดีนี้

หากผิดจริงจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

“คำนูณ สิทธิสมาน” อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ไว้ละเอียดยิบครับ

ไปดูบางช่วงบางตอนกัน….

“…การเสนอเรื่องการกระทำผิดตามมาตรา ๑๔๔ สู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมี ๒ ทางจากบุคคล ๒ ประเภท ทางที่ ๑ มาตรา ๑๔๔ วรรคสาม-จาก สส.หรือ สว.

ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา…ฯลฯ…”

เน้นตรงคำว่า “…บทบัญญัติตามวรรคสอง”!

จะเห็นได้ว่า สส.หรือ สว.ยื่นร้องได้เฉพาะความผิดตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง (มีส่วนใช้งบประมาณรายจ่าย) เท่านั้น วรรคหนึ่ง (แปรญัตติตัดงบใช้หนี้) ยื่นร้องไม่ได้

เป็นบทบัญญัติที่แปลก ทำไมไปจำกัดเช่นนั้น?

ทางที่ ๒ มาตรา ๑๔๔ วรรคสี่และวรรคหก-จากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่าย (และรวมถึงประชาชนทั่วไป?)

“เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทราบ ให้พ้นจากความรับผิด”-วรรคสี่

“ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม…”-วรรคหก

จากบทบัญญัติในทั้ง ๒ วรรค จะเห็นได้ว่ามีประเด็นต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อย ๒ เรื่อง

เรื่องหนึ่ง การแจ้งต่อ ป.ป.ช.ของเจ้าหน้าที่ฯ ทำได้ทั้ง ๒ ฐานความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เรื่องนี้ไม่มีข้อสงสัย เพราะตัวบทบัญญัติไว้ชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้ประเด็นอื่น ก็คือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ได้หรือไม่?

เพราะหากอ่านเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคสี่และวรรคหก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ เท่านั้น ไม่มีบุคคลประเภทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำตอบของประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในแค่มาตรา ๑๔๔ แต่ต้องมีมาตรา ๘๘ ด้วย

ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๘

หากแต่เป็นมาตรา ๘๘ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

เรามาดูตัวบทกัน…

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคสี่ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน…”

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ประโยคขึ้นต้นเลย

“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. …”

เป็นประโยคที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔ วรรคสี่หรือวรรคใด ๆ

ประโยคเดียว-จบข่าว!

คดีตามมาตรา ๑๔๔ ที่ตกเป็นข่าวดังมากกว่าและสร้างความตื่นตะลึงมากกว่าคดีที่ศาลรัฐธรรมเพิ่งรับไปเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เพราะจากการแถลงข่าวของคณะผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวพันกับทั้ง สส., กรรมาธิการของ สส., สว. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครม. การใช้ช่องทางร้องผ่านป.ป.ช.ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสี่ จึงไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะยื่นเมื่อใด ก็ต้องถือว่า “ความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.” ตามมาตรา ๘๘ แล้วเมื่อนั้น ต้องดำเนินการต่อทันที

หาก ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล เมื่อยื่นต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีก็จะเข้ามาตรา ๑๔๔ วรรคหกที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสาม ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ยื่นมานั้นเกิดขึ้นในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย หรือในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นมีผลบังคับใช้แล้ว

ก็เพราะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ๒๕๖๑ มาตรา ๘๘ รองรับและขยายความรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔๔ ไว้อย่างนี้นี่เองผมจึงตั้งชื่อหัวเรื่องพูดคุยวันนี้ว่า…

“๑๔๔-๘๘ รหัสล้างบางนักการเมือง”

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน

ฐานความผิดตามมาตรา ๑๔๔ มีขอบเขตกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่า “การกระทำด้วยประการใดๆ…ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ในวรรคสอง

โทษของความผิดก็ร้ายแรงมาก โดยบัญญัติไว้ในวรรคสาม สำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็น สส.หรือสว.ให้ “…สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” และ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง”

และถ้าเป็นกรณีคณะรัฐมนตรีก็ให้ “พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” ยกเว้นรัฐมนตรีคนที่พิสูจน์ได้ว่าไม่อยู่ในที่ประชุมในขณะกระทำความผิด และทั้ง ๒ กรณีจะต้องใช้เงินคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย มีอายุความ ๒๐ ปี

ในกรณีคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุนี้ มาตรา ๑๖๘ (๒) บัญญัติว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

นี่ยังไม่นับโทษทางอาญาที่จะตามมาอีก !

เราจึงอาจจะได้เห็นปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และปลัดกระทรวงประชุมกันคัดเลือกกันเองให้ปลัดกระทรวงคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๘ วรรคสองที่ยังไม่เคยใช้เหมือนกัน

สมมติฐานนี้ไม่ได้ห่างไกลความจริงนัก

และอาจจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมาให้เห็นอีก

จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ…”

ครับ…นิติสงครามดูเด็กๆ ไปเลยครับ

เพราะนี่ไม่ใช่การสอยตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นล้างบางทั้งสภาผู้แทนราษฎร และทำเนียบรัฐบาล

คงจะเป็นมหาสงครามล้างบางนักการเมือง ตามคำร้องของพรรคส้มที่เกลียดนิติสงครามเป็นนักเป็นหนา.

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
กรมการขนส่งทางบก ย้ำ!! รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตร ตามนโยบาย Social Distancing ป้องกัน COVID-19
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ได้สั่งการให้งานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้มงวดกรณีที่ผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนให้ปฏิบัติตามนโยบาย เว้นระยะนั่ง...
Read More
0 replies on “ล้างบางนักการเมือง #ผักกาดหอม”