ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง จากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 แล้ว โดย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร
นอกจากนี้ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทยและกรมชลประทานเร่งดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำและดำเนินการจัดการทำแผนงานปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งกีดขวางทางน้ำ และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้แล้วเสร็จทันฤดูฝนนี้ โดย GISTDA ตรวจสอบปริมาณวัชพืชผักตบชวาด้วยดาวเทียม และกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำแผนงานและมอบหน่วยงานดำเนินการในทางน้ำที่รับผิดชอบให้เสร็จทันฤดูฝน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง 24 จังหวัด การประปานครหลวง และกรมชลประทานได้แจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะบ่อบาดาล รวมสะสม 1,252 บ่อ การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการแจกจ่ายน้ำสะอาดแล้ว จำนวน 54.15 ล้านลิตร กรมทรัพยากรน้ำ สนับสนุนน้ำสะอาด 10.33 ล้านลิตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่รับน้ำ 7 อ่างเก็บน้ำในเขต จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เพิ่มน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก
นายกรัฐมนตรีห่วงใยความเพียงพอของปริมาณน้ำ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ซึ่งมีการใช้น้ำหลายภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการให้มีน้ำเพียงพอใช้อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้ทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะเร่งด่วน ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘East Water’ สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ภาคเอกชนร่วมกันลดการใช้น้ำลง 10% ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตามแผนที่วางไว้ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อคลี่คลายปัญหาและขอความร่วมมือเกษตรกรให้เพาะปลูกหรืองดเว้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ สำหรับประชาชนทั่วไปร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด