เปลว สีเงิน
การที่รัฐบาลเพื่อไทย….
ไม่รู้แม้กระทั่งคำว่า “ศีลธรรม” คืออะไร?
ไม่เข้าใจกระทั่งคำว่า “ชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” คือแบบไหน อย่างไร?
ถึงขนาดให้ “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.สำนักนายกฯ ทำหนังสือไปให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ช่วยวินิจฉัย ทั้ง ๒ คำนั้น ว่า
“มีขอบเขตหรือแนวทางการพิจารณาอย่างไร?” นั้น
บ่งบอกถึง “แพทองธาร” ไม่มีคุณสมบัติเป็นนายกฯ ไม่มีแม้กระทั่งคุณสมบัติความเป็นคน
เพราะแยกแยะไม่ได้แม้กระทั่งว่า “มนุษย์ต่างกับสัตว์เดรัจฉานตรงไหน-อย่างไร?”
แล้วจะให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” อยู่บริหารประเทศไหวหรือ?
ขืนให้คนที่ไม่รู้ว่า “ศีลธรรม” คือเส้นแบ่งความเป็นมนุษย์กับสัตว์เป็น “ผู้นำบริหารประเทศ” ละก็
มันก็เท่ากับปล่อยให้ “สัตว์นำคน-นำบริหารประเทศ”
แล้วแน่ใจกันหรือ ว่าผู้นำที่ “แยกคน-แยกสัตว์” ไม่ได้ จะบริหารให้ชาวบ้าน มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จีดีพี โตได้ ๕ %?
ที่สำคัญ เราทุกคนต้องตอบกับตัวเองให้ได้ว่า “จะยอมเป็นคนให้สัตว์นำชีวิตอย่างนั้นหรือไม่?”
ตรงนี้ ไม่ใช่ผมพูดเองด้วยอคติหรือหวังใส่ร้าย หากแต่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ “พุทธธรรม” ว่า
“อาหาระนิททา ภะยะเมถุนัญจะ สามัญญะเมตัปปะสุภี นะรานัง” สิ่งที่มีเหมือนกันทั้งคนทั้งสัตว์ คือ กิน นอน กลัว สืบพันธุ์
“ธัมโมวะ เตสัง อะธิโก วิเสโส ธัมเมนะ หีนา ปะสุภี สะมานา” ธรรมะเท่านั้น ที่ทำให้คนประเสริฐเหนือกว่าสัตว์ ขาด “ธรรมะ” เสียแล้ว “คน” ก็เท่ากับ “สัตว์”!
“ศีลธรรม” แยกมนุษย์ให้ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
เช่นนี้แล้ว ท่านว่า “ผู้นำบริหารประเทศ” ที่ไม่รู้จัก “ศีลและธรรม” จนต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ จัดอยู่ในประเภทไหน?
ประเภทมนุษย์หรือสัตว์ ท่านรู้ได้-แยกแยะได้ “ตามพุทธธรรม” นี้
ดังนั้น ควร “กำจัดสัตว์” ให้พ้นจากการเป็น “ผู้นำบริหารประเทศ” ให้เร็วที่สุด
แล้วเลือกสรร คนการเมืองที่เป็นมนุษย์ขึ้นมาเป็นผู้นำบริหารแทน!
เรื่องนี้ ท่านทราบกันแล้ว ว่าเมื่อวาน (๑๒ มี.ค.๖๘) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำพิจารณาวินิจฉัยออกมาแล้ว
“มติโดยเสียงข้างมาก ๘ ต่อ ๑ มีคำสั่ง “ไม่รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย ในประเด็นที่ว่า
บุคคลต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
อาจอยากทราบความเต็มกันว่า คำถาม “ครม.แพทองธาร” ที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีว่าอย่างไร
ก็จะยกคำถามที่น่าสมเพชเวทนานั้นมาให้ดู ดังนี้
“……….ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง(๒)กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
ในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๑/๒๕๖๗ ซึ่งการพิจารณาว่า
บุคคลต้อง “มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ไม่มีพฤติกรรมอันอันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
และ “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔) (๕) และ (๗) รวมทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราราชการการเมือง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๙ (๕) กำหนดว่า
ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ว่ามีขอบเขตหรือแนวทางการพิจารณาอย่างไร?”
ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า ….
“รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง กำหนดหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
และมาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกฯและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๕ คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน”
โดยรัฐธรรมนูญนี้ วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด
เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง
จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ที่จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจาก รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานบริหารราชการแผ่นดิน
การพิจารณาว่า บุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔)
ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐(๕)
หรือไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐(๗)
การเสนอบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว
และเป็นผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังกล่าว
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๘ วรรคหนึ่ง
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒)ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๒) และมาตรา ๔๔
ต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือมีการกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจหลักไว้ในรัฐธรรมนูญ
และการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และอำนาจของนายกฯ
ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ
คำร้องดังกล่าว….
เป็นเพียงการขอให้อธิบายหรือแปลความหมายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) (๕) และ (๗) และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๙ (๕)
ว่ามีความหมายขอบเขตเพียงใดอันมีลักษณะเป็นการหารือเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่า มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว
อีกทั้ง กรณีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นตามคำร้องซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.เฉพาะข้าราชการการเมือง
มิใช่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒)ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๒) และมาตรา ๔๔
จึงมีมติโดยเสียงข้างมาก ๘ ต่อ ๑
มีคำสั่ง “ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย” ในประเด็นที่ว่า บุคคลต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
ครับ ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน
ศาลฯ ท่าน “ตบหน้าสั่งสอน” นายกฯให้รู้จัก “อำนาจและหน้าที่” ของตัวเอง
ศาลฯ ไม่ใช่ที่ปรึกษาหารือของรัฐบาล การเอาเรื่องในอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งเหตุยังไม่เกิดมาถามเช่นนี้
ส่อเจตนาชัด หวังใช้ศาลฯเป็น “ตรายาง” ให้รัฐบาล!
แต่ “แพทองธาร” ที่ไม่รู้จักคำว่า “ศีลธรรม” ไม่รู้จักคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ว่าเป็นยังไง
ก็ยากให้รู้สึก-รู้สาทางละอาย อย่างคำโบราณท่านว่า
“คนเช่นนี้ ใส่ครกตำสักพันปี ก็บ่มี ซึ่งยางอาย”!
เปลว สีเงิน
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๘