ผักกาดหอม
งานเลี้ยงเลิกรา…
แสดงความยินดีปรีดากันเสร็จสิ้นแล้ว ถึงเวลาไปดูข้อเท็จจริง บนเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.)
ที่ลำพูนดูจะคึกคักสุด
พรรคส้มได้มาที่นั่งเดียว แต่การเตรียมความพร้อมในการทำงานดูฉับไวกว่า อบจ.ของพรรคเพื่อไทย รวมถึง อบจ.สีน้ำเงิน และ อบจ.อิสระทั้งหลาย
จากการแถลงข่าวของ หัวหน้าเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ น่าสนใจมากครับ
ภาพรวมลำพูนจะเป็นสนามฝึกงานการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคส้ม
“…ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่พรรคประชาชนจะเดินทางไปทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดลำพูน เพื่อสอบถามประชาชนว่าจุดไหนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยกว่ากัน
นำแพลตฟอร์มการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมมาใช้ และเปิดเผยการใช้และตั้งงบประมาณอย่างโปร่งใส
โดยนำองค์ความรู้ที่มีจากคณะก้าวหน้ามาผนวกกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดลำพูนให้ดีกว่าเดิม…”
“…การทำงานไปข้างหน้าของพรรคประชาชนในจังหวัดลำพูน มีทั้งสิ่งที่พร้อมทำงานขับเคลื่อนทันทีในนโยบายที่พรรคประชาชนได้นำเสนอไว้ ลงรายละเอียดนโยบายไปถึงระดับพื้นที่ ภายใต้ฐานข้อมูลการพัฒนาเมือง (City Data Platform)
รวมทั้งข้อมูล GIS หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น จุดกำเนิดไฟป่า พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ความกระจุกตัวของชุมชนหมู่บ้าน โครงข่ายถนน จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ในการจัดทำนโยบายต่อจากนี้…”
จะถือเป็นแนวคิดใหม่ในการบริหารท้องถิ่นก็ว่าได้
เพราะในอดีต เรามักได้ยิน อบจ. อบต. เน้นประมูลโครงการที่แทบไม่มีความจำเป็น เช่น โคมไฟ เสาไฟฟ้า ส่องถนน
ที่เลื่องชื่อคือ เสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ
คอร์รัปชันกันมโหฬาร
ขอชมพรรคส้มล่วงหน้าสักวันครับ หาก อบจ.ลำพูน สามารถบริหารท้องถิ่นจนดูพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้
น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก
จะกลายเป็นโมเดลในการพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศทันที
ส่วนระดับชาติ เชื่อเถอะครับเลือกตั้ง สส.เมื่อไหร่ ยิ่งกว่าแลนด์สไลด์
แต่…ความเป็นจริงในการบริหารท้องถิ่นที่ผ่านมา บ้านใหญ่ อิทธิพลท้องถิ่น มาเฟีย ขาใหญ่งานประมูล เครือข่ายผลประโยชน์ มีอยู่ทุกจังหวัด
การจัดซื้อจัดจ้างต้อง มีค่าหัวคิว เงินทอน แทบทุกที่
การคอร์รัปชันหยั่งรากลึกในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับมานาน จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน
ไปท่องโลกแห่งการคอร์รัปชัน จากข้อมูลของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดย “มานะ นิมิตรมงคล” กันครับ
อบจ.เป็นกลไกอำนาจระดับจังหวัด ที่มีตัวแทนจากประชาชน มีงบประมาณ มีบทบาทสำคัญเพื่อแก้ปัญหา ไปพร้อมกับการพัฒนาจังหวัด
แต่ปัญหา “ทุจริต-คอร์รัปชัน” ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับเป็นประเด็นแรกที่ผู้คนส่งเสียงสะท้อน และถูกตั้งคำถามในโลกออนไลน์ ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนจะร่วมขยับ ขับเคลื่อนวาระนี้ ปิดกลโกงต่างๆ เพื่อบ้านเราที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ช่องทางคอร์รัปชันใน อบจ. เช่น งบจัดซื้อจัดจ้าง จ้างและแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร อำนาจอนุญาตอนุมัติ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ให้เช่า-ให้สัมปทานทรัพยากรในการดูแล
อบจ.มีผลประโยชน์ทับซ้อน นำทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว ใช้อิทธิพล ฯลฯ
เหล่านี้คือแรงจูงใจให้เกิดการแย่งชิงอำนาจใน อบจ.
ทำอย่างไรจึงจะเกิดความโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบ มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของชุมชนและจังหวัด
ทำอย่างไรจะได้คนมีความสามารถ รับผิดชอบ และไม่มีประวัติคดโกง มาบริหารจังหวัดของเรามากกว่าทุกวันนี้
ครับ…นั่นเป็น คำถามจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
ไปดูกันครับว่า อบจ.มีงบมากแค่ไหน?
ข้อมูลของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า อบจ.ทั่วประเทศ มีงบประมาณรวม ๗๙,๑๖๗.๑๔ ล้านบาท
แยกที่มาของรายได้ดังนี้
๑.จัดเก็บเอง ๕,๐๙๙.๔๖ ล้านบาท
๒.รัฐจัดสรรให้จากภาษีจัดเก็บได้ในจังหวัด ๔๙,๓๙๓.๙๔ ล้านบาท
๓.เงินอุดหนุนของรัฐ ๒๔,๖๗๓.๗๓ ล้านบาท (ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความจำเป็น) งบจังหวัดมากน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งรายได้ การท่องเที่ยว ธุรกิจ/อุตสาหกรรม
เช่น โคราช ๒.๔ พันล้านบาท
สมุทรปราการ ๒.๘ พันล้าน
น่าน ๔๔๓ ล้านบาท
พัทลุง ๓๖๙ ล้านบาท ฯลฯ
เป็นข้อมูลจากงบประมาณปี ๒๕๖๖ และไม่รวมงบของ กทม. ราว ๙ หมื่นล้านบาท
จะเห็นได้ว่างบประมาณของ อบจ.แต่ละจังหวัดนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นกับขนาดเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ความปรารถนาในการคอร์รัปชัน ขึ้นกับจิตสำนึกของผู้บริหาร อบจ.
ข้อมูล ป.ป.ช. ช่วงปี ๒๕๔๗-ถึงปัจจุบัน มีอดีตนายก อบจ.ถูกศาลตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติรายเดียวคือ นายพรชัย โค้วสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี
อดีตนายก อบจ. ๗๒ จังหวัดที่เพิ่งหมดวาระไป ยื่นต่อ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินฯ ดังนี้
๒ คน ร่ำรวยเกินพันล้านบาท (๒.๗%)
๒๑ คน มีทรัพย์สินเกิน ๑๐๐ ล้านบาท เฉลี่ย ๓๐๐ ล้านบาทต่อคน (๒๙.๒%)
๓๐ คน มีทรัพย์สินเกิน ๑๐ ล้านบาท เฉลี่ย ๔๐ ล้านบาทต่อคน (๔๑.๖%)
๑๗ คน มีทรัพย์สินหลักล้านบาท เฉลี่ย ๕ ล้านบาทต่อคน (๒๓.๖%)
๒ คน มีทรัพย์สินเพียง ๓ แสนบาท (๒.๗%)
ข้อมูลไม่รวมทรัพย์สินคู่สมรสและลูก โดยสืบต้นจาก ACT Ai
๔ จังหวัดที่ข้อมูลไม่ครบหรือขาดหาย ได้แก่ กาฬสินธุ์ ตรัง สมุทรสงคราม อุบลราชธานี
บางคนรวยตั้งแต่เกิด รวยมรดก ก็ไม่ว่ากันครับ
แต่สำหรับหลายๆ คนร่ำรวยตอนดำรงตำแหน่งนายกอบจ. กลไกของ ป.ป.ช.น่าจะตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่ก็น่าแปลกใจ ๒๑ ปีผ่านไป ถูกศาลตัดสินร่ำรวยผิดปกติเพียงคนเดียว
สวนทางกับข้อมูลการคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง
ต้องมีอะไรผิดพลาดอย่างแน่นอน
แต่…อย่างน้อยก็ได้รู้ข้อมูลครับว่า นายก อบจ.โดยค่าเฉลี่ยรวยกันหลักร้อยล้าน
สมกับเป็นบ้านใหญ่จริงๆ