ผักกาดหอม
เรียบร้อยครับ….
วานนี้ (๑๑ พฤศจิกายน) คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เคาะชื่อ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่แล้ว
แต่ไม่บอกว่าเป็นใครใน ๓ คน คือ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ฝั่งรัฐบาลเป็นผู้เสนอ
หรืออีก ๒ ชื่อคือ “กุลิศ สมบัติศิริ” และ “สุรพล นิติไกรพจน์” ที่เสนอโดยแบงก์ชาติ
รอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
จากนั้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้งก่อน แล้วจะรู้ว่าเป็นใคร
นี่คือขั้นตอนตามที่ กรรมการคัดเลือกฯ ว่าไว้
แต่…ไม่ต้องรอถึงขั้นนั้นครับ เพราะข่าวแบบนี้ไม่มีทางปิดอยู่
สรุปคือ กรรมการคัดเลือกฯ ลงมติเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
แสดงว่าไม่ฟังอะไรกันเลย
เสียงคัดค้านฝ่ายการเมืองส่งคนไปครอบงำแบงก์ชาติ ไร้ความหมาย
ก่อนกรรมการคัดเลือกฯ ประชุม ๑ วัน ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ โพสต์ข้อความเตือนความจำ ให้ระวังหายนะ
“…ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง
ก็ไม่สมควรครับ
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง
และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด
ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง
มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก
ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ…”
จริงครับ!
ขนาดแบงก์ชาติแข็งแรง การเมืองล้วงลูกยาก ยังเห็นภาพนโยบายประชานิยมที่ไม่สนใจวินัยการเงินการคลัง เกลื่อน
แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี่ตัวดีเลย
การเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ในแบงก์ชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ หลังกันยายนปีหน้า นับถอยหลังสู่หายนะได้เลย
อ่านความคิดของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว คงต้องปลง เพราะการให้เหตุผลว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจเอาการเมืองไปแทรกแซงแบงก์ชาตินั้น ดูจะเป็นนิยายหลอกเด็กไปหน่อย
การบอกว่า ประธานบอร์ด ไม่สามารถกำหนดนโยบาย หรือแทรกแซงกลไกการทำงานของแบงก์ชาติ หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ย หรือ ปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ได้
ไม่มีอำนาจในการปลด หรือ แต่งตั้งใครมาทำหน้าที่แทนผู้ว่าการแบงก์ชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ปัจจุบันได้
ใช่ครับการกระทำโดยตรงทำไม่ได้ แต่โดยอ้อมสามารถทำอะไรได้เยอะพอควร
มาตรา ๒๕ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อำนาจคณะกรรมการแบงก์ชาติไว้ ๑๒ ประการ
๑.พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินกิจการและการดําเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ
๒.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล
๓.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน
๔.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ผู้ว่าการพนักงานและ ลูกจ้าง
๕.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอํานาจ การรักษาการแทน การบริหารงานหรือดําเนินกิจการอื่นใด
๖.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง
๗.กําหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกําหนดเงินเดือนและเงินอื่นๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่างๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตําแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
๘.กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสํารองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ ๓ ของหมวด ๖
๙.พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิก สาขาหรือสํานักงานตัวแทน
๑๐.กําหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา ๕๕
๑๑.กํากับดูแลการจัดทํางบการเงิน รายงานประจําปี และรายงานอื่นๆ ของ ธปท.ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
๑๒.ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
จะเห็นว่าบทบาทของบอร์ดแบงก์ชาติ ครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน
การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร
การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ
การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
กนง.นี่มีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ประเด็นที่รัฐบาลจ้องจะแทรกแซงมานาน
หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ
สำคัญทั้งนั้นครับ
กรณีผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น บอร์ดแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่ไปแต่งตั้งก็จริง แต่เมื่อบอร์ดแบงก์ชาติมาตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองเสียแล้ว
ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้หยุดที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
คิวต่อไปคือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ
อย่างที่บอกว่า หากโครงสร้างแบงก์เปลี่ยนหลังเดือนกันยายนปีหน้า ฝ่ายการเมืองคุมทั้ง บอร์ดแบงก์ชาติ และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ไม่ต้องถามหาการทำงานที่เป็นอิสระกันอีก
เว้นแต่ว่ารัฐบาลระบอบทักษิณมีอันเป็นไปเสียก่อน