เมื่อเวลา 15.20 น. วันที่ 27 มกราคม 2568 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พปชร.กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ว่า ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะใช้เวลาพิจารณาผ่านรัฐสภาอีกระยะหนึ่งนั้น รัฐบาลควรเดินหน้าบริหารจัดการเพื่อป้องปรามฝุ่นพิษไปพลางก่อนได้เลย รัฐบาลควรพุ่งเป้าไปที่ปัญหาจากการเผาในกิจกรรมเกษตรทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในไทย เพราะข้อมูลล่าสุดปรากฏมีจุดเผารวมกันแต่ละปีนับล้านจุดใน 4 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า พปชร.ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้มาตรการด้านการเงินเพื่อเสริมมาตรการด้านการกำกับดังเช่นที่สิงคโปร์เคยทำสำเร็จมาแล้ว ตัวอย่างดังนี้
1.กระทรวงเกษตรกำหนดมาตรฐานและขึ้นบัญชีบริษัทเซอเวเยอร์เอกชนเพื่อให้ทำการตรวจสอบการเผาทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเอกชนเป็นผู้จ่ายค่าจ้างบริษัทเซอเวเยอร์
2.กระทรวงการคลังกำหนดภาษีพิเศษเพื่อป้องปรามฝุ่นพิษ โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งปี เช่นการนำเข้าข้าวโพดและอ้อยหรือน้ำตาลที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ให้เก็บจากบริษัทผู้นำเข้าในอัตราสูงสุดจนถึง 100% สำหรับการซื้อขายข้าวโพดและอ้อยที่ปลูกในประเทศไทย เก็บจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์และโรงงานน้ำตาลในอัตราสูงสุดจนถึง 100% และการส่งออกข้าวเก็บจากบริษัทผู้ส่งออกในอัตรา 5%
โดยการนำเข้าข้าวโพดและอ้อยหรือน้ำตาลที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน และการซื้อขายข้าวโพดและอ้อยที่ปลูกในประเทศไทย ให้ยกเว้นสำหรับผู้เสียภาษีที่มีใบรับรองจากบริษัทเซอเวเยอร์รับอนุญาตว่าในห้วงเวลาหนึ่งปีก่อนหน้า แปลงที่ผลิตไม่มีการเผา แต่กรณีการส่งออกข้าว เมื่อครบหนึ่งปีให้นำเงินภาษีส่งออกมาแบ่งคืนให้แก่ อบต. ตามสัดส่วนการผลิตข้าว ยกเว้นพื้นที่ อบต. ใดที่มีจุดการเผาฟางในห้วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา จะถูกริบเอาเงินไปเฉลี่ยให้ อบต. อื่นๆ ในปีถัดไป
3.กระทรวงเกษตรจัดงบประมาณซื้อรถตัดอ้อยประจำชุมชน โดยมอบหมายกำหนดพื้นที่ไร่อ้อยให้โรงหีบอ้อยดูแลการวางแผนปลูก เพื่อให้รถเข้าไปได้ทุกแปลงต่อเนื่อง และซื้อเครื่องอัดฟางข้าวหรือแปรรูปฟางข้าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น
“นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ โดยอัตราภาษี (ก) และ (ข) นั้นอาจเริ่มต้นในระดับต่ำแล้วปรับสูงขึ้นทุกปีเพื่อให้เวลาปรับตัวก็ได้” นายธีระชัย กล่าว