30 ธันวาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงแรม ดิ เอ็มเบอร์ โฮเทล ถนนตานี เขตพระนคร เมื่อเวลา 21.21 น. ของคืนวันที่ 29 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า โรงแรมที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นโรงแรมที่มีพื้นที่ประมาณ 1,515 ตารางเมตร มีการยื่นแบบขออนุญาต แต่ต้องไปดูอีกครั้งหนึ่งว่าแบบถูกต้องหรือไม่ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ชั้น 5 เจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งเหตุเมื่อเวลา 21.21 น. ใช้เวลา 5 นาทีถึงที่เกิดเหตุ พบควันหนาแน่นมาก และเนื่องจากมีควันจำนวนมากทำให้คนหนีขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า มีผู้พักอาศัยทั้งหมด 75 คน ขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า 34 คน จากนั้นเราใช้รถกระเช้าจำนวน 3 คัน เข้าช่วยเหลือทยอยนำผู้ที่อยู่บนดาดฟ้าลงมาได้ทั้งหมด เหตุเพลิงไหม้นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย ในส่วนนักท่องเที่ยวที่เหลือ กทม. ได้นำรถมารับและส่งไปพักโรงแรมอื่นย่านประตูน้ำ เราได้พยายามดูแลให้ดีที่สุดและแจ้งสถานทูตที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบโรงแรมมีบันไดหนีไฟ แต่ต้องไปตรวจสอบว่ามีการทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มีระบบเตือนภัยแต่ไม่แน่ใจว่าตอนที่เกิดเหตุมีการเตือนภัยที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ต้องมีการเข้าไปตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานอีกครั้งหนึ่ง เรื่องทางหนีไฟเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องมีการตรวจสอบว่าคนสามารถหนีไฟได้ มีป้ายบอกชัดเจน มีระบบแจ้งเตือนภัย มีอุปกรณ์ดับเพลิง ได้ย้ำเตือนทุกสำนักงานเขตดูแลและออกตรวจเรื่องนี้ซ้ำ ทั้งในสถานบันเทิง ตลอดจนโรงแรมต่าง ๆ
ในส่วนของเรื่องการควบคุมวัสดุในอาคาร ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายใหม่ออกมาเมื่อปี 2566 แต่ควบคุมเฉพาะอาคารก่อสร้างขนาดใหญ่ ยังไม่รวมโรงแรมที่มีขนาดน้อยกว่า 80 ห้อง ในระยะยาวต้องถอดบทเรียนเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมวัสดุที่มีควันพิษ
เรื่องการเข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคาร หลังเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้ามาดำเนินการเรียบร้อยแล้ว สำนักการโยธา และผู้เชี่ยวชาญสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย จึงจะเข้าประเมินความมั่นคง ความปลอดภัยต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง โดยย้ำว่าจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด เบื้องต้นอาคารไม่มีการทรุดตัว ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ยังไม่แน่ชัด
ด้านการสร้างความเชื่อมั่น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ต้องนำจุดอ่อนไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องทางหนีไฟ ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ อีกเรื่องคือต้องดูแลผู้ประสบภัยให้ดีที่สุด แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ อีกปัญหาหนึ่งคือนักท่องเที่ยวอาจมีอาการเมา ทำให้การหนีไฟทำได้ยากขึ้น เรื่องสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือสถานบันเทิง จึงเป็นเรื่องที่ต้องไปเข้มงวดกวดขัน โดยได้สั่งการในเรื่องนี้ทุกเทศกาลอยู่แล้ว โรงแรมยิ่งเล็กยิ่งอาจจะอันตราย เพราะกฎหมายเรื่องเกี่ยวกับเพลิงไหม้ไปเน้นที่อาคารใหญ่เกิน 80 ห้อง ดังนั้นบางเรื่องอาจไม่ได้ครอบคลุม จึงต้องเน้นตรวจสอบโรงแรมขนาดเล็กด้วย
“สำหรับประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ฝากด้วยว่าเวลาเราจะไปเที่ยวที่ไหน ขั้นแรกต้องสำรวจเส้นทางหนีไฟให้ดี สำคัญอีกเรื่องคือการเผชิญเหตุ หากพบเหตุไฟไหม้ก่อนที่จะไปดับเพลิง ควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก่อน ที่เบอร์ 199 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลามาถึงที่เกิดเหตุเร็วขึ้น เพราะหากแจ้งช้า ไฟลามเยอะอาจไม่ทัน ผู้ประกอบการเองต้องดูว่าอย่าให้มีสิ่งของกีดขวางเส้นทางหนีไฟ และต้องซักซ้อมการเผชิญเหตุไฟไหม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ให้ดีด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
——————–