เปิดข้อมูลใหม่ปม ‘เขากระโดง’ พิรุธแผนที่การรถไฟฯ รุกสิทธิชาวบ้าน

25 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทพื้นที่บริเวณเขากระโดง หลังกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) และกรมที่ดิน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และหน่วยราชการ ในพื้นที่เขากระโดงในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) อ้างสิทธิ์เป็นของตัวเองบนพื้นที่ 5,000 กว่าไร่

นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า จากการฟังความของชาวบ้านพบพบว่า อยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาสำรวจแนวเขตของการรถไฟฯ “หากฟังทั้งหมด ผมเข้าใจว่าเหมือนการรถไฟจะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชน”

รมช.มหาดไทย ยืนยันว่า ได้รับทราบข้อมูลใหม่จากชาวบ้าน ที่นำเอกสารสิทธิมาแสดงว่าอยู่ในที่ดินนั้น ก่อนที่การรถไฟฯ จะเข้าไปในพื้นที่ และได้นำเอกสารสิทธิต่างๆมาแสดงด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่ จากประชาชน ที่ไม่ได้ส่วนร่วมในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาครั้งที่แล้ว

ขณะที่การรถไฟฯ ก็ออกแถลงการณ์โต้ทันทีว่าที่ดินบริเวณเขากระโดง 5,000 กว่าไร่เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. พร้อมมีเอกสาร ข้อมูลและคำตัดสินของศาลต่างๆ ถือเป็นที่สิ้นสุด พร้อมดำเนินการทุกอย่างให้ที่ดินกลับมาเป็นของ รฟท.

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการรถไฟฯ ถือเป็นมหากาพย์และมีรายละเอียด ข้อถกเถียงอีกมากที่สังคมยังไม่ได้รับรู้ โดยเฉพาะจากฝั่ง“กรมที่ดิน” ที่ถูกลากให้มาเป็นจำเลย จึงขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องโดยแบงประเด็นเรื่อง “เขากระโดง ต้องแบ่งเป็น 2 ภาค

โดยภาค1ประชาชน 35 ราย นำเอกสารการครอบครองที่ดิน สค.1 ไปร้องต่อศาลฎีกา ขอให้กรมที่ดินออกโฉนดที่ดิน แต่การรถไฟฯคัดค้านและศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกคำร้องของประชาชนทั้ง 35 ราย เนื่องจากการรถไฟฯ นำแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดินจำนวน 5,083 ไร่ แสดงต่อศาลฎีกาว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ รับถ่ายโอนมาจากกรมรถไฟหลวง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นที่ดินของการรถไฟ และให้กรมที่ดินเพิกถอนคำร้องของประชาชน 35 ราย ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการแล้ว ถือได้ว่ากรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกาโดยสมบูรณ์แล้ว

สำหรับการสู้คดีในศาล ภาคที่ 1ของประชาชน 35 ราย นี้ ขณะที่ประชาชนอื่นๆมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน และ นส.3 ก. มากกว่า 900 ราย ซึ่งมีเอกสารสิทธิที่ดีกว่าประชาชน 35 ราย และกรมที่ดินในฐานะผู้ออกเอกสารสิทธิ์มีการจดทะเบียนซื้อ ขาย โอนที่ดิน มากกว่า 900 แปลง ในพื้นที่ที่การรถไฟฯ อ้างต่อศาล ว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคดี ด้วยเพราะไม่ใช่คู่กรณี หรือคู่ความ ในครั้งนั้น ดังนั้นการดำเนินคดีในภาคแรก ถือว่าเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์​

ส่วนภาค2 ต่อมาการรถไฟฯ ฟ้องศาลปกครองให้ กรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนนเอกสารสิทธิ์ ทุกแปลง ในพื้นที่ 5,083 ไร่ ซึ่งการรถไฟฯ บรรยายฟ้องว่าเป็นการออกโฉนดที่ดิน ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยอ้างว่าเป็นแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 และศาลฎีกาได้วินิจฉัย ตามหลักฐานที่การรถไฟฯ นำมาแสดงต่อศาล (ตามภาค 1)

ต่อมา ศาลปกครอง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคำร้องของการรถไฟและให้กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินเขากระโดง ตามมาตรา 61 ของกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ ทุกกรณีที่มีการฟ้องร้องให้กรมที่ดิน เพิกถอนการจดทะเบียนออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย

เมื่อการรถไฟฯ ฟ้องกรมที่ดิน ทำผิดกฎหมาย ให้ศาลสั่งเพิกถอนการออกโฉนดและเอกสารสิทธิมากกว่า 900 แปลง จึงเป็นเหตุให้กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี และ ประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ และเป็นผู้เสียสิทธิ์ ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีด้วย เมื่อศาลสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการสอบสวนสิทธิ์การถือครองที่ดินของทั้งการรถไฟฯ และ ประชาชน

ผลการสอบสวนของคณะกรรมการตามมาตรา 61 พบว่าแผนที่ที่การรถไฟฯ นำไปอ้างในศาลฎีกา ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 และสัดส่วนในแผนที่ผิดจากความเป็นจริงในพื้นที่ เช่นทางรถไฟฯ ระบุในแผนที่มีความยาว 8 กิโลเมตร แต่รางรถไฟที่มีอยู่จริงในพื้นที่ ความยาว 6.2 กิโลเมตร อีก 1.8 กิโลเมตร เป็นที่ดินของประชาชน ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีผู้แทนของการรถไฟฯ เป็นผู้ชี้แนวเขตการรถไฟ ซึ่งไม่ทับซ้อนที่ดินของประชาชน ปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในเอกสารที่ประชาชน นำมาแสดง

จากการสอบสวน พบว่า แผนที่ฉบับที่การรถไฟฯ นำมาอ้าง เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดิน และ พนักงานการรถไฟ ร่วมกันจัดทำขึ้นเอง เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของประชาชน ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา และเมื่อกรมที่ดิน ให้การรถไฟฯ นำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พระพุทธศักราช 2462 แสดงเขตที่ดินการของการรถไฟ เป็นหลักฐานประกอบการรังวัดชี้แนวเขตที่ดิน การรถไฟฯ ไม่สามารถนำมาแสดง ได้ ในขณะที่ประชาชน นำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย มาแสดงและคัดค้านการชี้แนวเขตของผู้แทนการรถไฟฯ

คณะกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อการรถไฟฯ ไม่สามารนำเอกสารสิทธิที่ดีกว่าประชาชนมาแสดงต่อคณะกรรมการ ได้ และมีประชาชนถือครองเอกสารสิทธิ์ ยื่นคัดค้าน จึงยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน จึงได้รายงานต่ออธิบดีกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินได้รายงานกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการแล้ว กระบวนการของกรมที่ดิน เสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ไป ทั้ง การรถไฟฯ และ กรมที่ดิน ต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะมีคำสั่งอย่างไร

การดำเนินคดีภาค 2 ยังไม่เป็นที่ยุติ ที่มีการกล่าวอ้างว่า ศาลฎีกาและศาลปกครอง ได้ตัดสินให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดง แล้ว จึงไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่มีเจตนาทำให้ประชาชนสับสน เข้าใจผิดว่ากรมที่ดิน ขัดคำสั่งศาล

นอกจากนี้ ยังพบว่า คำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้าที่ 30 ยังรับรองความเป็นอิสระหรือดุลพินิจของกรมที่ดินไว้แล้ว ศาลปกครองไม่อาจก้าวล่วงได้ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของคำพิพากษาของศาลปกครอง

เนื่องจาก “ คำร้องที่ รฟท.ขอให้ศาลสั่งกรมที่ดินเพิกถอน ศาลให้ยกคำร้องและ ให้ไปตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เมื่อคณะกรรมการทำตามกฎหมายแล้ว ชี้อย่างไรให้เป็นไปตามความเห็นของคณะคณะกรรมการ ศาลไม่อาจก้าวล่วงผู้ถูกร้องที่สอง(อธิบดีกรมที่ดิน)ได้”

ฉะนั้นการออกมาโต้ตอบกันไปมาของคู่กรณี ยืนยันว่าตนเป็นฝ่ายถูก เป็นเรื่องปกติของคู่กรณี แต่เมื่อนำความขึ้นสู่ศาลแล้ว ควรจะรอศาลตัดสิน ดีกว่าที่จะมาโต้ตอบกันไปมา

สุดท้าย กรมที่ดิน ไม่ได้ปิดกั้นการรถไฟฯ ใช้สิทธิฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ เป็นรายแปลง และได้แนะนำการรถไฟฯไปแล้ว หากศาลมีคำสั่งให้การรถไฟฯ ชนะคดีต่อกรมที่ดิน พร้อมจะดำเนินการเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์เป็นรายแปลงตามคำสั่งศาลแพ่งต่อไป

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์คนไทยที่อยู่ในประเทศอียิปต์ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามสถานการณ์คนไทยที่อยู่ในประเทศอียิปต์ อยู่ตลอดเวลา
Read More
0 replies on “เปิดข้อมูลใหม่ปม ‘เขากระโดง’ พิรุธแผนที่การรถไฟฯ รุกสิทธิชาวบ้าน”