24 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค ที่มีกรรมการบริหารและแกนนำ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุมว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมพล.อ.ประวิตร ได้เปิดโอกาสให้คณะผู้บริหารพรรค สส. และสมาชิกพรรค ร่วมสวัสดีปีใหม่ โดยหัวหน้าได้อวยพรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยขอให้ทุกคนมีความมั่นคง มีความรัก ความสามัคคี ให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาและติดตามความคืบหน้าในการศึกษาหาแนวทางการเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมท่าเรือตะวันออกกับภาคอีสาน ซึ่งเป็นโครงการที่พรรค พปชร.จะผลักดันในการพัฒนาภาคอีสาน โดยขอให้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในภาคอื่นๆ ตามแนวทางของแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอให้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะด้านภาษาให้กับเยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นประถม โดย พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องสอดรับในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายอัคร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีวะศึกษา เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น โดยจะมีการลงรายละเอียดในแผนงานและนโยบายของพรรคที่จะพลิกอีสาน สร้างโอกาสใหม่ สู่อนาคตสดใส กับพลังประชารัฐ ใน 7 ด้าน
คือ 1.อีสานติดทะเล 2.อีสานเป็นหน้าบ้านสู่จีน 3.อีสานอาหารสมบูรณ์ 4.อีสานน่าเที่ยว 5.อีสานดิจิทัล 6.อีสานอินเตอร์ 7.อีสานน่าอยู่ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่จะมีการนำไปจัดสัมมนาของพรรคที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2568 โดยจะมีการกำหนดทิศทางวางนโยบายของพรรค เพื่อนำไปบอกกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายอัคร ยังกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงประเด็นในเรื่องการยกเลิก MOU 44 ซึ่งทางศูนย์วิชาการนโยบายพรรค นำโดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ ได้เดินทางไปพบปะประชาชนในพื้นที่ จ.ตราด โดยได้รับความสนใจจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ห่วงใยในประเด็นนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพประมงที่ต้องประกอบอาชีพจับปลาในพื้นที่บริเวณเกาะกูดตอนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีความสุ่มเสี่ยงของการจับกุมเรือประมง เพราะกัมพูชาถือว่าเป็นเขตแดนของตนเอง เรื่องนี้ต้องขับเคลื่อนและติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งในสภาและนอกสภา เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและรักษาอธิปไตยของประเทศ นอกจากนี้ในที่ประชุมฯ ยังมีมติจะไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่รับร่างใดๆ ทั้งสิ้น