24 ธันวาคม 2567 ตามข้อมูลที่เผยแพร่เรื่องเงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีโพสต์ให้ข้อมูลระบุว่า เงินช่วยเหลือน้ำท่วม ช่วยทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 9,000 บาท ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 9,000 บาท ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใน 2 กรณี ดังนี้
1. ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย
2. ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ซึ่งที่อยู่อาศัยประจำดังกล่าวจะต้องอยู่ในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย และ/หรือ ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
โดยหากตรวจสอบแล้ว ประชาชนที่ยื่นคำร้องฯ ได้รับผลกระทบตามหลักเกณฑ์หนด จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 9,000 บาท โดยธนาคารออมสินจะเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยรับงบประมาณและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้กำชับจังหวัดที่ได้รับจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ กรณีพิเศษ ตามมติ ครม. ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดำเนินการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ครม.กำหนด ก่อนส่งข้อมูลให้กรม ปภ. ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.disaster.go.th และ http://newdisaster.disaster.go.th หรือ โทร. 0-2637-3000 , สายด่วน 1784
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การที่จะได้รับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมนั้นมีเงื่อนไข หลักเกณฑ์ มิใช่ให้ทุกครัวเรือน จะต้องเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2 กรณี คือ 1. มีที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย และ 2. ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ที่อยู่ในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย