อนาคต ‘ส้ม-แดง’ จับมือ #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เข้าใจตรงกันนะครับ…

ขอชมสักวัน “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เจ้าของตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์การเมืองได้ตรงใจจริงๆ

“…ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ คืออีกรูปธรรมหนึ่งของการเมือง ๓ ก๊กที่ผมพูดถึง

ก๊กพรรคเพื่อไทยและก๊กพรรคประชาชนโหวตไปทางเดียวกัน แต่พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญโหวตไปอีกทาง ซึ่งตรงกับ สว. จากกติกาของก๊กอนุรักษ์นิยม

ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และอาจมีให้เห็นอีก แต่ไม่ควรเกิดกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวาระประชาชนที่ทุกพรรคต่างแสดงท่าทีตรงกันว่าต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่

ข้อถกเถียงว่าประชามติ ๒ ชั้น จะทำให้เกิดความชอบธรรม อ้างง่ายแต่ฟังยาก เพราะกติกานี้มัดมือชกคนไม่ลงคะแนนให้เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วย อุ้มเสียงคนนอนบ้านมายัดลงหีบบัตร ทั้งที่ความชอบธรรมของประชามติอยู่ที่การเคลื่อนไหวรณรงค์ได้อย่างอิสระ และตัดสินโดยคะแนนข้างมาก

สว.เกิดจากรัฐธรรมนูญนี้ พรรคการเมืองบางพรรคแนบแน่นกับ สว.จึงไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำถามในใจคน

รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อไป ถึงเดินช้าประชาชนก็เห็นชัดว่าช้าตรงไหน…”

“ถูกใจตรงที่ ก๊กพรรคเพื่อไทยกับก๊กพรรคประชาชนโหวตไปในทิศทางเดียวกัน”

แถมยังมีติ่ง…

“ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และอาจมีให้เห็นอีก”

ยุส่งเลยครับ คราวหน้า เป็นก๊กเดียวกัน โหวตร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ไปในทิศทางเดียวกัน จะกลมเกลียวกว่านี้เยอะ

ก็ดีใจกันยกใหญ่ครับ สภาฯ ปล้นอำนาจประชาชนไปเรียบร้อย

จากเดิมการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการรื้อทั้งฉบับจะต้องทำประชามติ ๓ รอบ แต่สภาฯ บอกว่า ๒ รอบพอ คือก่อนและหลังเขียนรัฐธรรมนูญ

เหตุผลคือ ถ้าประชามติ ๓ รอบ ไม่ทันสภาฯ ชุดนี้แน่ๆ

ฉะนั้นให้รู้ไว้ว่าใครใหญ่ ก็รวมหัวกันหั่นเหลือ ๒ รอบ

แต่พรรคภูมิใจไทยแหกโผ โหวตสวนกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะแก้รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ไม่ใช่แก้ธรรมดา แต่ฉีกของเก่าทิ้ง เขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เพิ่งจะแสดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้การตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแพทองธารต้องระวังเรื่องคนโกงเป็นประจักษ์กันอย่างหนัก

บิ๊กเนมบางคนจึงหลุดโผไป

ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอื่น “นายใหญ่” จิ้มใครคนนั้นต้องได้

ฉะนั้นที่จะเขียนใหม่เชื่อเถอะครับ ไม่มีอีกแล้ว

นี่แค่หนึ่งตัวอย่าง

สิ่งที่สภาผู้แทนฯ เสียงข้างมากจะลากไปหลังจากปล้นอำนาจประชาชนสำเร็จคือ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อเปิดช่องฉีกฉบับปัจจุบันทิ้ง ด้วยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๖ (๘) ได้กำหนดไว้ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๒๕๖ (๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (๗) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (๗) ต่อไป”

ดังนั้น ในกรณีที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางประเด็นที่สำคัญ ก่อนการแก้ไขเพิ่มรัฐจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติประเด็น ดังต่อไปนี้

หมวด ๑ บททั่วไป

หมวด ๒ พระมหากษัตริย์

หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือ

เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้

การจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงจะดำเนินการตามมาตรา ๒๕๖ (๗)

กล่าวคือ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติจะดำเนินการเมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย และก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

มันมีเหตุผลครับ ที่รัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้แก้ใขยาก

เพราะในอนาคตรัฐบาลอาจมีเสียงข้างมากในสภา หากกำหนดเสียงที่ให้เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้น้อย หรือหากไม่ทำประชามติ จะทำให้พรรคการเมืองนั้นสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่พรรคการเมืองนั้นต้องการได้โดยง่าย

อยากแก้ตรงไหนก็จิ้มเอาได้เลย

ฉะนั้นเมื่อสภาผู้แทนฯ รวมหัวกันฉีกของเก่าทิ้ง ซึ่งหมายถึงทุกหมวดในรัฐธรรมนูญ ไม่เว้นหมวดพระมหากษัตริย์ ก็ต้องทำประชามติ

แม้หลายพรรคการเมืองจะอ้างว่าไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ แต่ในข้อเท็จจริงคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ถูกฉีกทิ้งทั้งหมด

แน่นอนครับ พรรคการเมืองจะบอกว่า หมวดพระมหากษัตริย์จะกลับมาเหมือนเดิมทุกประการ โดยการยกร่างของ ส.ส.ร.

ยกเว้นพรรคส้มครับ ที่มีความปรารถนามานานว่า จะต้องแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ด้วย

อีกมุมหนึ่ง พรรคส้มบอกว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส.ร.จะเป็นผู้กำหนด

เมื่อ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แบ่งก๊กการเมืองแบบนี้ก็อดเป็นห่วงไม่ได้

จำวลีของนักโต้วาทีมัธยมศึกษาไว้นะครับ

“ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และอาจมีให้เห็นอีก”

จับตาอย่ากะพริบเชียว ภาวะที่ว่านี้อาจเกิดขึ้นตอนเลือก ส.ส.ร.ก็เป็นได้

การเมืองไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์หรอกครับ

ดูการเลือก สว.ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง พรรคการเมืองเกือบทุกพรรครวมทั้งพรรคส้ม ส่งคนไปชิงเก้าอี้กับเขาด้วย

แล้ว ส.ส.ร.จะไปเหลือหรือครับ

ส้มแดงรวมพลัง กวาดต้อนเก้าอี้ ส.ส.ร.มาอยู่ใต้การครอบครอง

ไม่อยากคิดว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร

แต่ไม่เป็นไรครับ ถึงวันนั้นแม้ประชามติจะเหลือแค่ ๒ ครั้ง ก็มากพอหากประชาชนร่วมมือร่วมใจกันฉีกร่างรัฐธรรมนูญฉบับช้ำเลือดช้ำหนองทิ้ง

เพราะไม่คิดว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ดีกว่าเดิม

ดูกรณี “ความชั่วเป็นที่ประจักษ์” เป็นตัวอย่าง

กลัวจนลนลาน ขู่จะแก้รัฐธรรมนูญสามเวลาหลังอาหาร

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
โฆษก รทสช. ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนาทั้งประเทศ เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาทจะมีผลพรุ่งนี้
โฆษก รทสช. ขอบคุณรัฐบาลแทนชาวนาทั้งประเทศ เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาทจะมีผลพรุ่งนี้ ต่อยอดจากนโยบายรัฐบาล “ลุงตู่” เชียร์ปีหน้าจ่ายเพิ่มเป็น 2 พันบาทชดเชยไม่มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรแล้ว พอจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้
Read More
0 replies on “อนาคต ‘ส้ม-แดง’ จับมือ #ผักกาดหอม”