ผักกาดหอม
เริ่มเห็นแนวโน้มครับ…
อาจมีคนติดคุก หรือไม่ก็เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรี รวมทั้งอาจสูญเสียหน้าที่การงาน เพราะร่วมขบวนการไม่ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ติดคุกแม้วันเดียว
ไม่ใช่ ๑ คน แต่หลายคน
เพราะร่วมทำกันเป็นขบวนการ
มาช้าดีกว่าไม่มา แพทยสภาขยับแล้ว
จากคำให้สัมภาษณ์ของ “ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” อดีตกรรมการแพทยสภา นับเป็นความคืบหน้าที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดี นักโทษเทวดา อย่างมาก
เพราะอนุกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นโดยมติของคณะกรรมการแพทยสภา ให้สอบสวนกรณี ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่ชั้น ๑๔ รพ.ตำรวจ เป็นเวลาร่วม ๖ เดือน
ล่าสุดคณะอนุกรรมการฯ ทำหนังสือถึงแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ให้ส่งเอกสารทางการแพทย์ทั้งหมดในการรักษาตัวทักษิณ ตลอดช่วงที่อยู่ชั้น ๑๔ รพ.ตำรวจ มาให้คณะอนุกรรมการฯ ภายในไม่เกิน ๑๕ มกราคม ๒๕๖๘
“…เรื่องการสอบสวนต้องมีอำนาจอยู่แล้ว ไม่มีอำนาจไม่ได้ ต้องมีอำนาจในการสอบสวน เพราะเรามีหน้าที่สอบสวนเรื่องจรรยาบรรณแพทย์
หนังสือที่ส่งไป ก็ขอให้เขาส่งมาให้เราอย่างรวดเร็ว เพราะอนุกรรมการฯ ก็อยากทำให้มันจบเร็วเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดไหน แต่ก็อยากให้เร็ว
ตอนที่กรรมการสอบชุดแรกสรุปมา เขาก็สรุปว่าเรื่องมีมูล ไม่ใช่ข่าวโคมลอย ก็มีข้อมูล ทางนี้ก็เลยต้องขอข้อมูลมาดูให้มันชัดๆ ครบถ้วน เพราะตอนนี้ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน…”
สำหรับแพทยสภา ขั้นต้นนี้ เรื่องมีมูล
ฉะนั้น บุคคลที่ถูกแพทยสภาสอบสวนอยู่ ๕ ราย
พลตำรวจโทโสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
พลตำรวจโททวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
พันตำรวจเอกชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ ๕) โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และผู้ออกใบความเห็นแพทย์
พลตำรวจตรีสามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออกใบความเห็นแพทย์
นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่
เอกสารหลักที่จะตรวจสอบหนีไม่พ้น “เวชระเบียน”
ก่อนนี้มีข้อถกเถียงว่า เวชระเบียนเป็นของใคร หาก “ทักษิณ” ไม่ยอม ก็ไม่สามารถให้ใครดูได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ป่วย
มีงานเขียนของ วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ. ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “เวชระเบียน เป็นของใคร” อ่านจบแล้วกระจ่างครับ
“…ความกระจ่างในเรื่องสภาพแห่งเวชระเบียนนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยการให้ความเห็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ จากกรณีอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
สถานพยาบาล (โรงพยาบาล) ของรัฐแห่งหนึ่งได้ถูกผู้ป่วยที่มารับการรักษาร้องขอ “เวชระเบียน” ของตนเองต่อสถานพยาบาลแห่งนั้น แต่เนื่องจากสถานพยาบาลแห่งนั้นได้ทำเวชระเบียนฉบับดังกล่าวสูญหายไป เนื่องจากเวชระเบียนมีผู้ยืมไปใช้ด้วยกันหลายฝ่ายทำให้หาไม่พบ อย่างไรก็ตามสถานพยาบาลดังกล่าวก็ได้ทำการแจ้งความร้องทุกข์โดยลงบันทึกประจำวันไว้กับสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่เรียบร้อยแล้วว่า “เวชระเบียนสูญหายไป” แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยกำลังฟ้องร้องสถานพยาบาลแห่งนั้นในเรื่องมาตรฐานของการรักษาพยาบาล และเห็นว่าสถานพยาบาลต้องรับผิดชอบในเรื่องการสูญหายของเวชระเบียนที่ผู้ป่วยถือว่าเป็นสิทธิของตนเอง
สถานพยาบาลของรัฐแห่งนั้นจึงได้ทำเรื่องสอบถามไปยัง “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ต่อมาเรื่องดังกล่าวได้ถูกส่งไปยัง “คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ” ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ตอบข้อหารือและส่งกลับให้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และได้ถูกตอบกลับมายังสถานพยาบาลที่ถาม ดังนี้
“คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เอกสารเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล ถือว่าเป็นเอกสารของราชการ ซึ่งการเก็บเอกสารดังกล่าวต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.๒๕๒๖…..ฯลฯ” ประเด็นและข้อเท็จจริงที่ได้จากกรณีอุทาหรณ์ข้างต้น จากกรณีอุทาหรณ์ข้างต้นทำให้ได้ทราบถึงรายละเอียด (วินิจฉัย) ถึงสิทธิใน “เวชระเบียน” โดยเป็นองค์กรของรัฐองค์กรแรกอันมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร ที่ได้วินิจฉัย “สิทธิในเวชระเบียน” โดยให้ความหมายไว้อย่างชัดเจน จึงสมควรยิ่งที่จะต้องถือตามการวินิจฉัยนี้ อีกทั้งแพทย์ทุกคนรวมถึงผู้บริหารสถานพยาบาลจะต้องทราบไว้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการร้องขอและการดำเนินการกับเวชระเบียนต่อไป
สิทธิในเวชระเบียนตามความเห็นของ “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ”
ความกระจ่างในเรื่อง “สิทธิของเวชระเบียน” ตามกรณีอุทาหรณ์ข้างต้น อาจแบ่งพิจารณาเรื่องสิทธิเวชระเบียนได้เป็น ๒ กรณีใหญ่ๆ คือ
๑.เวชระเบียนของสถานพยาบาลของรัฐ
จากผลการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ตามกรณีอุทาหรณ์ข้างต้นทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งเกี่ยวกับ “สิทธิในเวชระเบียน” กล่าวคือ ในคำวินิจฉัยที่ว่า “เอกสารเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯ ถือว่าเป็นเอกสารของราชการ”
“เอกสาร” ตามมาตรา ๑(๗) หมายความว่า กระดาษ หรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
“เอกสารราชการ” มาตรา ๑(๘) หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายความรวมถึง สำเนาของเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
เมื่อเวชระเบียนเป็น “เอกสารของราชการ” ซึ่งน่าจะเข้ากับการเป็น “เอกสารราชการ” นั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาอ้างเพื่อขอเอกสารดังกล่าวไปย่อมไม่อาจเป็นไปได้ การที่จะส่งมอบเวชระเบียนอันเป็นเอกสารของราชการให้กับผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นได้นั้น จะต้องเป็นไปตามกรอบแห่งกฎหมายเท่านั้น เช่น การที่ศาลมีหมายเรียกพยานเอกสาร (ขอเวชระเบียนมา) เป็นต้น
เวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชนเมื่อเทียบเคียงเวชระเบียนของสถานพยาบาลของรัฐที่กล่าวมาแล้วตามแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งว่า “เวชระเบียนของสถานพยาบาลเอกชนต้องเป็นของสถานพยาบาลเอกชนนั้น” อย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงกรณีปรับเข้ากับเรื่อง “ลิขสิทธิ์” ในประเด็นงานอันมีลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมกับผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
ไม่สามารถมอบเวชระเบียนอันเป็นเอกสารของราชการให้กับผู้อื่นได้ เว้นเสียแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ กรณีนี้หมายถึง การที่ นายแดง นายดำ จะมาอ้างเอาเวชระเบียนว่าเป็นของตนและขอเวชระเบียนไป เช่นนี้ย่อมไม่อาจทำได้ เพราะเวชระเบียนเป็นเอกสารของราชการเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเอกสารของราชการย่อมต้องเข้าข่ายในเรื่อง การขอข้อมูลของราชการ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ นั่นเอง…”
ครับ…คงเห็นช่องทางที่โรงพยาบาลตำรวจต้องส่งเวชระเบียนให้แพทยสภา รวมทั้ง ป.ป.ช. ที่กำลังสอบเรื่องนี้อยู่เช่นกันแล้วนะครับ
จะมาอ้างว่าอยู่ที่ “ทักษิณ” จะอนุญาตหรือไม่ ไม่ได้เด็ดขาด