ผิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เรียกผิดให้เรียกใหม่ครับ

ไม่ใช่ “พื้นที่ทับซ้อน” แต่เป็น “พื้นที่อ้างสิทธิ”

เป็นข้อแนะนำจาก เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา “ปกรณ์ นิลประพันธ์”

“…เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใครจะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้น เอ็มโอยูที่ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่าอันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ…”

ครับ…ถ้าดินแดนที่มันชัดเจนแล้ว คงไม่มีปัญหา

ของใครของมัน

แต่ดินแดนที่ยังไม่ชัดเจน ให้เรียกพื้นที่อ้างสิทธิแทนพื้นที่ทับซ้อนได้หรือเปล่า

จะใช้เกณฑ์อะไรวัด

นักวิชาการบางคนใช้คำรวมกันด้วยซ้ำ คือ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

แล้วมันต่างกันอย่างไร

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า เส้นเขตแดนที่แสดงอยู่ใน MOU 44 คือเส้นไหล่ทวีป ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องแสวงประโยชน์ใต้ดิน ไม่เกี่ยวข้องกับการ “เสียสิทธิสภาพใดๆ ทั้งหลายในการปกป้องประเทศ”

“…การประกาศเส้นไหล่ทวีปเป็นเรื่องของใต้ดิน ไม่เกี่ยวอะไรกับการเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว หรือเสียอธิปไตยที่จะปกป้องประเทศ ไม่เกี่ยวเลย แต่เป็นเรื่องแสวงหาประโยชน์ เรามีสิทธิแสวงหาประโยชน์ตรงนี้…”

พออนุมานได้ว่าถ้า “ทับซ้อน” ใช้กับพื้นที่บนบก

อ้างสิทธิ เป็นเรื่อง ไหล่ทวีป ใต้ดิน ในทะเล

ถ้าเป็นตามนี้ ปัญหาการตีเส้นอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ใน MOU 44 ไม่เกี่ยวข้องกับการเสียดินแดนแต่ประการใด

ไหล่ทวีป หมายถึง พื้นดินท้องทะเล และดินใต้ผิวดิน บริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติของดินแดนทางบก ของประเทศนั้นๆ จนถึงริมนอกของขอบทวีป

หรือจนถึงระยะ ๒๐๐ ไมล์ทะเล

สิทธิอธิปไตย เหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต โดยมีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ

๑.เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หากรัฐชายฝั่งไม่สำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือใต้ไหล่ทวีปแล้ว รัฐอื่นจะสำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือใต้ไหล่ทวีปโดยมิได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากรัฐชายฝั่งมิได้

​ ๒.สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการครอบครอง ไม่ว่าอย่างแท้จริงหรือเพียงในนาม หรือกับการประกาศอย่างชัดแจ้งใดๆ

ขยายความให้ชัดคือ สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตไหล่ทวีปนั้น เป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่ดั้งเดิม โดยไม่ต้องทำการประกาศเข้ายึดถือเอาแต่อย่างใด รัฐชายฝั่งได้สิทธิอธิปไตยดังกล่าวมาโดยอัตโนมัติ

เกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีทางแปรเปลี่ยน

แต่…การที่บอกว่าเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 เป็นเสียงของพวกคลั่งชาติ ต้องเปิดใจให้กว้าง

กัมพูชาไม่ได้ขีดเส้นตามที่โลกเข้าใจ นำมาสู่ความห่วงใยว่า ไทยอาจพลาดท่าในท้ายที่สุดได้

เป็นความรักชาติครับ ไม่อยากเสียดินแดนเพิ่ม

ขอให้การเสียเขาพระวิหาร พื้นที่ ๒ ตารางกิโลเมตร ให้แก่กัมพูชาเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ตามคำพิพากษาของศาลโลก เป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้าย

ก็อย่างที่รับรู้กัน หลักฐานสำคัญของกัมพูชา สมัยยังเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส เมื่อรู้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเสด็จไปยังเขาพระวิหาร จึงขึ้นไปก่อนแล้วชักธงชาติฝรั่งเศสรับเสด็จ ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน

ภาพถ่ายนี้ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อศาลโลก

ทำให้ไทยเสียเขาพระวิหาร ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓

มาถึงข้อห่วงใยเนื้อหาใน MOU 44

มีข้อสังเกตจากโพสต์ของ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“…MOU 44 ข้อ ๕ ระบุว่า ‘บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา’

อ่านอีกครั้งหนึ่งก็คือ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของกัมพูชาที่ลากเส้นผ่านเกาะกูด

อย่างไรก็ดี ในเมื่อมีแผนที่ ที่แสดงเส้นผ่านเกาะกูดที่ผิดกติกาสากลอยู่ใน MOU 44 พร้อมไทยยอมรับว่าถึงแม้เจรจาไม่สำเร็จ จะไม่มีผลกระทบต่อเส้นของกัมพูชา

ย่อมสื่อความว่า ถึงแม้ไทยไม่เคยแจ้งทักท้วงว่าเส้นของกัมพูชาผิดกติกาสากล มาถึงบัดนี้ ไทยย่อมจะไม่ใช้สิทธิที่จะทักท้วงอีกแล้ว

ยกเลิก MOU 44

ถ้ายอมรับว่า เงื่อนไขแฝดอิน-จันใน MOU 44 ทำให้โอกาสที่การเจรจาในกรอบ MOU 44 จะมีความสำเร็จได้นั้น แทบไม่มีเลย ก็ควรคิดยกเลิก MOU 44

ถ้าย้อนเวลาไปในอดีต สิ่งที่กระทรวงต่างประเทศควรเสนอรัฐบาลในปี ๒๕๔๔ คือให้ชวนกัมพูชาทำ MOU เพื่อสร้างเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเพียงอย่างเดียว โดยในทางเจรจา ก็ให้อาณาเขตเป็นไปตามกติกาสากล

คือให้เป็นบันทึกความเข้าใจ ‘ว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมไทยและกัมพูชา’ ที่ไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดน แทนที่จะเป็นบันทึกความเข้าใจ ‘ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน’ ดังที่สร้างปัญหาในทั้งสองประเทศอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อแยกเรื่องเศรษฐกิจออกต่างหากเด็ดขาดได้แล้ว เช่นนี้ โอกาสที่จะทำความเข้าใจให้ประชาชนทั้งสองประเทศยอมรับจะมีสูงกว่า

น่าเสียดาย กระทรวงต่างประเทศไม่ได้แยกเรื่องเศรษฐกิจให้เด็ดขาดออกจากเรื่องกฎหมาย…”

ครับ…ไม่ทราบเจตนาแต่แรกว่า ขอบเขตการเจรจานั้นต้องการเช่นไรกันแน่

เมื่อปี ๒๕๔๔ “ทักษิณ” อยากให้เป็นแบบไหน

MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไก ในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม

มายุครัฐบาลแพทองธาร กลับพูดเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม และการแบ่งผลประโยชน์ โดยไม่คุยเรื่องเขตแดน

แล้วจะจัดการกับเอกสารของฝั่งกัมพูชา ที่ตีเส้นผ่าเกาะกูดอย่างไร รัฐบาลไม่เคยให้ความชัดเจนในเรื่องนี้

ใจเขาใจเรา ไม่มีทางที่รัฐบาลกัมพูชาจะเอาแผนที่ที่ผ่าเกาะกูดออกจาก MOU 44

เพราะชาวกัมพูชาคงไม่ยอม และลึกๆ เขาก็หวังให้เกาะกูดตกเป็นของกัมพูชา

ครับ…ติดกระดุมเม็ดแรกผิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔

เม็ดที่เหลือจึงเป็นหายนะของประเทศ

ฉะนั้นหากจะทำให้ถูกต้อง ก็ต้องกลับไปที่กระดุมเม็ดแรก

ยกเลิก MOU 44

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
“เพื่อไทย” เตือน อย่าด่วนสรุปความสำเร็จในการแก้ปัญหาลอตเตอรี่ เหมือนลิงแก้แห แก้ด้านหนึ่งเพิ่มปัญหาอีกด้านหนึ่ง
“เพื่อไทย” เตือน อย่าด่วนสรุปความสำเร็จในการแก้ปัญหาลอตเตอรี่ เหมือนลิงแก้แห แก้ด้านหนึ่งเพิ่มปัญหาอีกด้านหนึ่ง แนะ มองให้ครบทุกด้าน จะได้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Read More
0 replies on “ผิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ #ผักกาดหอม”