ไปให้ถึง ‘สุดซอย’ #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ครบ ๒๘ ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๙ แล้วครับ

“ไทยโพสต์” หนังสือพิมพ์สุดซอย แต่ไม่สุดโต่ง

อยู่คลองเตยก็ปลายซอย ย้ายมาประชาชื่น ๔๖ ก็สุดซอย ฉะนั้นไม่ต้องกลัวหลง

ตรงดิ่งไปสุดซอยเป็นอันว่าถึง ไทยโพสต์

สุดซอยประชาชื่น ๔๖ มีแต่ความอบอุ่นครับ

แต่นิรโทษกรรมสุดซอยระวังแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

สัปดาห์นี้มีหลายเรื่องให้ติดตาม

หนึ่งในนั้นคือ หลายพรรคการเมืองจะกำหนดทิศทางการนิรโทษกรรมความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการลงมติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

ประเด็นหลักอยู่ที่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

แม้แนวโน้มหลังจากนี้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ไม่รวม ม.๑๑๒ แต่ยังคงมีการผลักดันจากพรรคส้ม ให้นิรโทษกรรมเหมาเข่ง และในรายงานของ กมธ.จะเห็นความจริงจังที่จะล้างผิด ม.๑๑๒ โดยอ้างเหตุผลเพื่อความสมานฉันท์

ภาคผนวกจึงให้ความสำคัญกับ ม.๑๑๒ เป็นการเฉพาะ

ในภาคผนวก รายงานฉบับนี้นำข้อเขียนเรื่อง “กฎหมายนิรโทษกรรมและการุณยธรรม” ของ “โคทม อารียา” มาประกอบด้วย

“…ผู้ที่อยากรวมมาตรา ๑๑๒ ไว้เป็นฐานความผิดที่พึงนิรโทษกรรมนั้น อาจมีเหตุผลดังนี้ ปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีนี้หลายร้อยคน ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งต่อเจ้าตัว ญาติมิตร และผู้ที่เห็นใจจำนวนมาก หลักการสำคัญของนิรโทษกรรมทางการเมืองน่าจะเป็นการรวมทุกฝ่าย (inclusivity) ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ผู้ที่คิดทำนองนี้เห็นว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่คิดว่าตัวเองได้กระทำความผิดตามมาตรานี้ เพราะไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาทหรือดูถูกเบื้องสูง ยิ่งการอาฆาตมาดร้ายแล้วยิ่งห่างไกลจากเจตนาเข้าไปใหญ่

ในความเข้าใจของผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เขาเพียงแต่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในกรอบของรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อทางการเมืองของตน เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือผู้ที่มีความอ่อนไหวได้ตั้งข้อกล่าวหา พวกเขาจึงถูกดึงเข้าไปสู่กระบวนการลงโทษทางกฎหมาย

การยกโทษและให้อภัยในฐานความผิดนี้ จะช่วยนำพาสังคมออกจากวงเวียนความขัดแย้งทางการเมืองได้ไม่มากก็น้อย

อนึ่ง มีข้อเสนอที่ฟังมาและมีความแยบคายข้อหนึ่งคือ ให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เฉพาะผู้ที่ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรขอรับผิดและให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำ

ข้อเสนอนี้ฝ่ายประชาสังคมที่มีส่วนเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าการยอมรับผิดจะเป็นการฝืนความเชื่อที่ว่า ตนไม่มีเจตนาที่จะทำความผิด และคิดว่าถูกลงโทษเพราะความเห็นต่างเท่านั้น อีกทั้งจะเป็นการบังคับให้เอาตัวรอด โดยทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลัง…”

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดตรงที่ คนทำผิด ม.๑๑๒ เชื่อว่าหากตัวเองได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว ความสงบสุขจะเกิดขึ้นในทันที

สำคัญไปกว่านั้นเชื่อว่าสิ่งที่ทำลงไป ไม่มีเจตนาทำความผิด มิได้เป็นการอาฆาตมาดร้าย แต่กลับถูกลงโทษเพราะเห็นต่าง

ใครก็ตามที่เชื่อว่านี่คือความจริงจากปากคนทำผิด ม.๑๑๒ ต้องย้อนกลับไปดูพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เสียใหม่

ไม่งั้นถูกแหกตา!

ภาคผนวก ยังระบุถึง มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เอาไว้ด้วย ซึ่งทั้งหมดมาจาก ความเห็นกรรมาธิการฯ ฝั่งพรรคส้ม

“…โดยหลักการแล้ว มาตรการทั้งหลายอาจไม่สามารถกำหนดมาตรการให้กับผู้กระทำความผิดเหมือนกันทั้งหมดได้ แต่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี เช่น หากเป็นการกระทำความผิดโดยการแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การพ่นสีกำแพงหรือพฤติการณ์อื่น อาจกำหนดห้ามกระทำการเช่นนั้นในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือในช่วงระยะเวลาสามปี หรือห้าปี จึงถือว่าการนิรโทษกรรมสมบูรณ์ เพื่อให้มีเวลาในการคลี่คลายความขัดแย้งให้สถานการณ์ดีขึ้น

แต่ไม่ควรห้ามกระทำการตลอดชีวิต

เพราะเป็นการกระทำความผิดที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากการห้ามการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงตลอดชีวิตที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำให้สูญหาย…”

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ มีที่ไหน ห้ามกระทำความผิดสามปีห้าปี หลังจากนั้นค่อยทำผิดใหม่ได้

ซ่อนเจตนาไว้ชัดเจน

ก็รู้ๆ กันอยู่ครับ พวกที่ต้องคดี ม.๑๑๒ ตัวพ่อตัวแม่ทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะขาดเจตนา

แต่ตั้งใจ!

เกิดคำถามมานานแล้วว่า หากนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ แล้วเชื่อได้อย่างไรว่า จะไม่ไปทำผิดซ้ำ เพราะคนกลุ่มนี้เป้าหมายที่ชัดเจนคือ

ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ปลุกปั่นกันมาขนาดนี้ ไม่มีหรอกครับทำผิด ม.๑๑๒ เพราะไร้เจตนา

ลองไปดูระดับบอสของสามนิ้วสิครับ โดนกันไปคนละกี่คดี

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ๒๕ คดี

อานนท์ นำภา ๑๔ คดี

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ๑๐ คดี

ภาณุพงศ์ จาดนอก ๙ คดี

เบนจา อะปัญ ๘ คดี

จึงมองไม่เห็นภาพตามข้อเสนอที่ว่า นิรโทษกรรมแล้วจะไม่มีการทำผิดซ้ำ และสังคมจะสงบสุข ไร้ความขัดแย้งอีก

ทั้งหมดนี้รู้ว่าตัวเองทำผิด ม.๑๑๒ และเจตนาที่จะทำผิด

เพราะอยากท้าทาย

อยากไปให้สุดซอย!

แม้ไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำให้สูญหาย แต่นี่สามารถจุดชนวนไปสู่สถานการณ์ดังกล่าวได้

ผู้ทำผิด ม.๑๑๒ จึงไม่ใช่คนไร้เดียงสา แต่เป็นกลุ่มคนที่ปลุกปั่นกันมา ยัดข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ล้มล้างการปกครอง ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

หากกลุ่มคนที่มีเจตนานี้ได้รับการนิรโทษกรรม สิ่งที่เกิดตามมาไม่ใช่ความสงบสุข

แต่แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

ก็ดูตอนนี้สิครับ แค่โจทย์นิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ยังเกิดความขัดแย้ง ตั้งท่าจะเปิดศึกกันอีกรอบแล้ว

Written By
More from pp
เครือซีพี – ซีพีเอฟ สนับสนุนโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 สร้างโอกาสการเรียนรู้แก่เยาวชนจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 – พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ...
Read More
0 replies on “ไปให้ถึง ‘สุดซอย’ #ผักกาดหอม”