แค่คิดก็ขัดแย้ง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไม่มีอะไรผิดคาด…

นั่งฟังสภาผู้แทนฯ อภิปรายรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ภาพรวมเป็นไปตามท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองก่อนหน้านี้

ชัดๆ คือพรรคส้ม ตั้งธงชัดเจนต้องนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ม.๑๑๒

ในการอภิปรายพบว่า ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ ไม่ว่าจะเป็น “อานนท์ นำพา” หรือ “บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม” ที่เสียชีวิตไปแล้ว ล้วนเป็นวีรบุรุษของพรรคส้ม

พรรคส้มด่ากราดไปทั่ว คดี ม.๑๑๒ เกิดขึ้นเพราะมีการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะคิดต่างจากรัฐ ต้องการปิดปากประชาชน

เหมารวมทุกคดี ม.๑๑๒ ว่าเป็นคดีการเมือง

ฉะนั้นหากต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมจะต้องนิรโทษกรรม ม.๑๑๒

พรรคส้ม ว่างั้นครับ…

จะเป็นแบบนั้นจริงหรือ?

หากพรรคส้มเบิกเนตรกันสักนิด จะเห็นว่าในกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ ยังขัดแย้งกันเรื่องนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ เลย

การอภิปรายในสภาก็ชัดกันนัวเนีย

สุดท้ายประธานต้องปิดประชุมหนี!

ลองจินตนาการดูครับ หากสภาผู้แทนฯ ผ่านเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม เหมารวม ม.๑๑๒ ไปด้วยนั้น สังคมไทยจะลุกเป็นไฟหรือไม่

จึงเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจของพรรคส้ม ที่ต้องการตอบสนองความต้องการของตนเองและมวลชนบางส่วนโดยใช้ประเทศเป็นเดิมพัน

ลองคิดกลับกันครับ หากสภาผู้แทนฯ ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่รวมผู้กระทำผิด ม.๑๑๒ ด้วย ใครจะลุกฮือ

ไม่มีหรอกครับ

ถึงมีก็หยิบมือ เช่นพวกสามนิ้วฮาร์ดคอร์

รายงานกรรมาธิการฯ ฉบับนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ม.๑๑๒ มีการสรุปข้อดี-ข้อเสีย เป็นสารตั้งต้นดังนี้ครับ…

ข้อดีการนิรโทษกรรม

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองในบางคดีเป็นเหตุ มาจากการใช้กฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกิดความคับข้องใจกับเจ้าหน้าที่รัฐและสถาบันหลัก เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ความคับข้องใจนี้สร้างความขัดแย้ง “แนวดิ่ง” ระหว่างรัฐและประชาชน ฉะนั้น การนิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง อีกทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในสถาบันดังกล่าวได้

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองในบางคดีเป็นเหตุ มาจากการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างความขัดแย้ง “แนวระนาบ” คือทำให้สังคมแยกเป็นสองเสี่ยง ขาดความสมานฉันท์และรู้รักสามัคคี ฉะนั้น การนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองนี้ ช่วยมิให้มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชน สร้างบรรยากาศที่สังคมจะหันหน้าคุยกันเรื่องความต่างทางความคิด มากกว่าจะทำร้ายกันด้วยกฎหมาย

ผลดี

การนิรโทษกรรมคือทางออกต่อคดีที่เกิดขึ้นไปแล้ว

การนิรโทษกรรมเป็นช่องทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นตัวแทนประชาชนใช้อำนาจนิติบัญญัติในการคุ้มครองประชาชน ถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

การนิรโทษกรรมเป็นการให้อภัยต่อกัน ไม่เฉพาะรัฐยกโทษให้ตามหลักการุณยธรรมเท่านั้น ยังหมายถึงการคืนดีระหว่างผู้เห็นต่าง เพื่อมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ

อาจมีการเกรงกันก่อนการนิรโทษกรรมว่าจะก่อความขัดแย้ง แต่การนิรโทษกรรมกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และกรณีนิรโทษกรรมทางปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๕๒๓ ก่อผลดีมากกว่าผลเสีย

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองน่าจะมีขึ้นได้ โดยพิจารณาเป็นรายคดีอย่างรอบคอบตามความหนักเบาของการกระทำ และมีกระบวนการที่เหมาะสม เช่น ในกรณีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ สามารถกำหนดให้มีการรอการวินิจฉัยเพื่อจัดให้มีการสานเสวนาประสานความเข้าใจโดยเคารพความเห็นต่าง โดยที่ระหว่างการรอการวินิจฉัย ผู้กระทำจะต้องไม่ทำผิดซ้ำ และในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถกำหนดให้มีกระบวนการเปิดเผยความจริง การขออภัย และการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำ ทั้งนี้เพื่อลดข้อเสียและเพิ่มผลกระทบในทางบวก

ข้อเสีย

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น คดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจทำให้ประชาชนบางส่วนที่ต้องการปกป้องสถาบันไม่เห็นด้วยและออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน และอาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา ๑๑๒ และความผิดต่อชีวิต ยังมีความเห็นแตกต่างกันในสังคม

เกี่ยวเนื่องกับข้อที่หนึ่ง การนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นแกนนำการชุมนุม อาจผลักให้คนที่ต้องการปกป้องสถาบันหันไปใช้เครื่องมืออื่นนอกเหนือจากกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบัน เช่น การทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม

การนิรโทษกรรมคดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ชีวิต และเสรีภาพ อาจทำให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และตั้งคำถามกับระบบยุติธรรม จนอาจจุดชนวนให้คนเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มปกป้องสถาบันเคลื่อนไหวและจุดประกายความขัดแย้ง

ผลเสีย

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองบางคดีมีความคาบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันในสังคม

การไม่นิรโทษกรรม

ข้อดี

ช่วยลดเงื่อนไขที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จะออกมาเคลื่อนไหว

ช่วยลดเงื่อนไขที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จะใช้มาตรการนอกเหนือกฎหมาย รวมถึงความรุนแรง ในนามของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ลดเงื่อนไขที่กลุ่มประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีความผิดต่อร่างกาย ชีวิต และเสรีภาพ จะรวมกลุ่มกับฝ่ายที่ต้านการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขยายปมความขัดแย้ง

ข้อเสีย

เนื่องจากบางคดีเป็นเหตุมาจากการใช้กฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกิดความคับข้องใจกับเจ้าหน้าที่รัฐและสถาบันหลัก เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ความคับข้องใจนี้สร้างความขัดแย้ง “แนวดิ่ง” ระหว่างรัฐและประชาชน

ฉะนั้น การไม่นิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงให้ความคับข้องใจระหว่างประชาชนกับสถาบันแห่งรัฐยังดำรงอยู่ และกลายเป็นเชื้อให้แก่การระดมมวลชนเพื่อต้านรัฐในอนาคต ดังที่เคยเกิดมาแล้ว

บางคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองเป็นเหตุมาจากการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างความขัดแย้ง “แนวระนาบ” ฉะนั้น การไม่นิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้ อาจยิ่งลดขันติธรรมระหว่างกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง และสร้างความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น

การไม่นิรโทษกรรมในคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ อาจส่งสัญญาณว่าสังคมไทยไม่พร้อมให้อภัย ไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่สามารถคิดถึงอนาคตที่คนเห็นต่างจะอยู่ร่วมกันได้

การไม่นิรโทษกรรมในคดีอ่อนไหวสะท้อนว่ากลไกรัฐสภาขาดประสิทธิภาพในการผลักดันประเด็นที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชน และอาจลดความเชื่อมั่นของผู้คนต่อกลไกรัฐสภาได้

ครับ…แต่รายงานกรรมาธิการฯ ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญประการหนึ่ง คือ ผู้ก่อความผิดตาม ม.๑๑๒ จำนวนมากมีเป้าหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

นี่ไม่ใช่ความเห็นต่างอย่างที่เข้าใจกัน

แต่เป็นการล้มล้างการปกครอง

Written By
More from pp
“ศรีสุวรรณ” เตรียมยื่น กกต. เอาผิด ส.ส. ‘เพื่อไทย’ บินพบทักษิณสิงคโปร์ ร้ายแรงถึง ‘ยุบพรรค’
13 มีนาคม 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “ในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค.65 เวลา...
Read More
0 replies on “แค่คิดก็ขัดแย้ง #ผักกาดหอม”