ผักกาดหอม
มาแล้วครับ….
วันนี้ (๑๗ ตุลาคม) สภาผู้แทนราษฎร นำรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มาถกกัน
หากทุกฝ่ายเออออห่อหมก นี่จะเป็นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่จะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ หลังจากนี้
ฉะนั้นการอภิปรายของบรรดา สส.ในวันนี้ จะเป็นประตูบานแรกที่อาจนำไปสู่การ นิรโทษกรรม ผู้ทำผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
ที่ชัดเจนแล้วมี พรรคภูมิใจไทย โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” ยืนยันว่า เป็นจุดยืนของพรรค มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒
“อะไรที่มันชัดเจนเราพร้อมที่จะพิจารณา แต่หากเข้ามาแล้วมีนิรโทษกรรมมาตรา ๑๑๒ พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย”
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ เป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมคนทำผิด ม.๑๑๒
บรรดาพรรคการเมืองหลักคงเหลือพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ที่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒
พรรคประชาชนเห็นด้วยแบบไม่มีเงื่อนไข คือนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ทุกกรณี
ขณะที่พรรคเพื่อไทย เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข แบ่งกลุ่มอาฆาตมาดร้าย กับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งไม่มีพฤติกรรมรุนแรง ออกจากกัน
รายงาน กมธ.ชุดนี้ เขียนอะไรเอาไว้บ้าง มีคดีอะไรบ้างที่ กมธ.เห็นว่าควรได้รับการนิรโทษกรรม และทำไมต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
เนื้อหาหลักๆ แบ่งคดีออกเป็น ๓ ประเภท
คือการกระทำผิดในคดีหลัก
ความผิดในคดีรอง
และการกระทำผิดในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
คดีหลัก เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดฐานกบฏ
การกระทำต่อธงชาติ
ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
ความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙
ส่วนความผิดคดีรอง อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แจ้งความเท็จ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ
หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง
ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา
ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร
มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง
ความผิดต่อร่างกาย
ความผิดต่อเสรีภาพ ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น
ความผิดฐานหมิ่นประมาท
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ความผิดฐานบุกรุก
รวมทั้งความผิดลหุโทษ
สุดท้าย การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา ๑๑๐ ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา ๑๑๒ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ
ความผิด ๒ มาตรานี้ ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ ๒๕ ฐานความผิดแนบท้าย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้วจะนิรโทษกรรม ม.๑๑๑ และ ม.๑๑๒ ด้วยหรือไม่
แต่วันนี้ถือว่าเฉียดที่สุดสำหรับการนิรโทษกรรม ผู้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การอภิปรายในสภา ฝั่งพรรคส้มจะอ้างเรื่องเสรีภาพในการพูดและแสดงความเห็นเป็นหลัก อ้างกระแสโลกบีบไทย
ขณะที่ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ หลายคน หนีไปต่างประเทศ ล้วนเป็นแนวร่วมกับพรรคส้ม มีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิก ม.๑๑๒ มาด้วยกัน
ส่วนพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒
ปัจจุบันมีผู้รอคอยกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะ แกนนำมวลชน และมวลชนทุกสีเสื้อ ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่
ขณะที่ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ นั้นมีเพียงไม่กี่คน
ฉะนั้น หากกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ทำผิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ล่าช้าออกไป เพราะมีพรรคการเมืองต้องการสอดไส้ ม.๑๑๒ เข้าไปด้วย ก็นับว่าไม่เป็นธรรมนัก
อีกทั้งการนิรโทษกรรมให้ผู้ทำผิด ม.๑๑๒ เข้าไปด้วย นอกจากเกิดความล่าช้าแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คือความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่
พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่เห็นแก่ตัว
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย
เพราะในรัฐบาลเองยังมีความเห็นเรื่องนี้แตกต่างกันไปคนละทาง
หาไม่แล้วจะกระเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล
รัฐบาลแพทองธาร จะประสบชะตากรรมเดียวกันกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์