ผักกาดหอม
ไม่รู้ฉลองใหญ่กันหรือเปล่า
วานนี้ (๑๕ ตุลาคม) พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ทำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ทำให้ตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ หลุดไปด้วย
นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการอย่างมาก บนวิบากกรรม “ตากใบ”
พรรคเพื่อไทยคิดว่า เมื่อ พล.อ.พิศาล ลาออกแล้ว พรรคจะพ้นจากแรงกดดัน ให้นำตัว พล.อ.พิศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย
คิดแค่นั้นจริงๆ
“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย บอกเองว่า
“เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ท่านเป็นข้าราชการ และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติการอะไรเราไม่ทราบ ไม่ได้เกี่ยวกัน วันนี้ถือว่าท่านลาออกแล้ว เหตุการณ์อะไรที่พรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบถือว่าจบ ต่อไปนี้ก็อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว”
“…วันนี้ถือว่าท่านลาออกแล้ว เหตุการณ์อะไรที่พรรคเพื่อไทยต้องรับผิดชอบถือว่าจบ ต่อไปนี้ก็อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว…”
“…ก่อนหน้านี้ท่านก็ไม่มีคดี และเราก็ไม่ทราบว่าใครจะมาสมัครรับเลือกตั้ง แต่ตอนหลังมามีคดี พรรคจะมารับผิดชอบก็ไม่ใช่…”
เอาง่ายๆ แบบนี้เลยหรือครับ
เห็นตอนเป็นฝ่ายค้าน เปิดยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน เล่นลูกน้องก่อนปลิดชีพผู้นำ
ถึงคราวตัวเอง ลูกน้องทำอะไร ผู้นำและพรรคไม่เกี่ยว
งั้นเอางี้….
ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยแล้วเกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณหรือเปล่า
เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ในรัฐบาลทักษิณ
เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดงานรำลึกอย่างต่อเนื่องทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้
มีการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตในทันที ๗ ราย โดย ๕ รายในนั้นถูกยิงที่ศีรษะ
มีผู้ชุมนุม ๑,๓๗๐ คน ถูกจับกุม นอนซ้อนทับกันหลังรถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร
ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๗๘ ราย
ต่อมาปี ๒๕๔๙ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวคำขอโทษประชาชน พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“…คดีตากใบอยู่ระหว่างการดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคงจะต้องมีการสอบสวนต่อไป ผมมองทั้งสองด้าน ผมไม่ได้มองด้านเดียวแต่มองโดยรวม ส่วนที่จะให้ผมขอโทษ ผมขอโทษแทนรัฐบาลที่แล้วและขอโทษแทนรัฐบาลนี้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นความผิดส่วนใหญ่ของรัฐ ซึ่งต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป
วันนี้ผมมาในฐานะที่จะยื่นมือออกไป และบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมมาขอโทษ ในฐานะที่เป็น ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ผมได้พยายามคัดค้านแต่ไม่เป็นผล ซึ่งถือว่าเป็นความผิดของผมส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถจัดการได้ ผมได้พยายามคัดค้านให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่เป็นผล มีหลายคนช่วยกันคัดค้านไม่ใช่ผมคนเดียว ท่านคงจะทราบว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกมองว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่ผ่านมา…”
นั่นคือคำขอโทษแรกจากผู้นำประเทศ
แล้ว “ทักษิณ” เคยขอโทษหรือเปล่า
เคยครับ…แต่ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
ปี ๒๕๕๔ “ทักษิณ” ยอมรับว่าการอยู่มานานก็เริ่มใช้อำนาจมากไป
“…ความจริงตามหลักของรัฐศาสตร์ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง อย่างมือ ๒ ข้าง มือหนึ่ง เขาเรียกกำปั้นเหล็ก ใช้กฎหมาย แต่มืออีกข้าง ต้องเป็นถุงมือกำมะหยี่ คอยดูคอยให้ความอบอุ่น ผมอยู่ในอำนาจนานเข้าเรื่องมันเยอะ ผมจึงบังคับใช้แต่กฎหมาย ไม่ดีเลย ถ้าผมอยู่ต่อไป ต้องใช้ถุงมือกำมะหยี่ มืออบอุ่นให้มาก กฎหมายให้ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย…”
“…หลังจากที่ผมไปอ่านหนังสือของท่านคานธี ถ้าเราใช้ความรุนแรง เราก็จะได้ความรุนแรงตอบ ถ้าใช้สิ่งที่นุ่มนวลก็จะได้รับสิ่งที่นุ่มนวลตอบ ดังนั้นต้องใช้กำปั้นเหล็ก หรือการปราบปรามให้น้อยๆ ใช้การพุดคุย หรือถุงมือกำมะหยี่ให้มากไป นี่เป็นแนวทางประชาธิปไตย นี่คือความผิดพลาดของผม…”
“…ผมตั้งใจดีกับพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ผมเป็นคนทำเรื่องราวต่างๆ ด้วยความเข้าใจมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเห็นการใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น ผมจึงใช้ความรุนแรงตอบ ซึ่งผมต้องขออภัย ผมติดนิสัยตำรวจ จะบังคับใช้กฎหมาย รุนแรงมาก็รุนแรงไป ซึ่งผิด มีความเป็นตำรวจมากเกินไป ถือเป็นคำขอโทษจากอดีตนายกฯ อย่างเป็นทางการได้เลย…”
ผ่านไป ๗ ปี ถึงมีคำขอโทษออกมา
“ทักษิณ” ยังขอโทษอีกครั้งในปี ๒๕๖๕
“…หลังจากที่ผมออกจากประเทศไทยไปแล้ว มีโอกาสเจอตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย ที่ประเทศเยอรมนี เขาเล่าว่า ตอนแรกมาเลเซียก็โกรธผม คนมุสลิมก็โกรธผม นึกว่าผมเป็นคนที่รังเกียจและทำร้ายมุสลิม ตอนหลังมาเขาพบว่า เป็นการกระทำของทหารที่วางแผนจะไม่เอาผม ตอนหลังมาทางมาเลเซียจึงไม่โกรธอะไรผม ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาเล่าให้ผมฟัง เหตุการณ์ที่เอาคนไปซ้อนกัน ‘เป็นเรื่องที่สั่งการโดยทหาร’ และพาคนเหล่านี้ไปค่ายทหาร ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่งอะไรยังไง ตัดตอนตั้งแต่สลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่ทหารรับช่วงไป ผมไม่รู้เรื่องแล้ว ผมรู้แค่คนจะบุกเข้าไปเอาคน ๖ คนในโรงพัก มีการสลายการชุมนุม มีการใช้ปืนฉีดน้ำ มีการยิงกันนิดหน่อย หลังจากนั้นผมไม่รู้เรื่องแล้ว…”
“…ผมถือว่า ถึงแม้ผมไม่ได้สั่งการ แต่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย เพราะจริงๆ ที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรงของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้น…”
คดีตากใบ กลายเป็นแผนล้ม รัฐบาลทักษิณ ของทหารไปเสียอย่างนั้น
ฉะนั้นคำขอโทษของ “ทักษิณ” แทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะไม่ใช่คำขอโทษจากความสำนึกที่ต้องรับผิดชอบ
แต่ขอโทษเพื่อเอาตัวรอดแล้วโยนผิดให้ทหาร
ซึ่งก็น่าประหลาดใจ ขณะที่ “ทักษิณ” บอกว่าเป็นแผนโค่นล้มของทหาร เลือกตั้งปี ๒๕๖๖ พรรคเพื่อไทยกลับมีชื่อ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อยู่ในบัญชีรายชื่อ สส.ระบบสัดส่วน
และได้เป็น สส.พรรคเพื่อไทย
ขณะเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ตากใบ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ขณะนั้นมียศเป็นพลโท เป็นแม่ทัพภาคที่ ๔
หากเป็นดังที่ “ทักษิณ” กล่าวอ้างไว้จริง พรรคเพื่อไทยจะรับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เข้าร่วมชายคาหรือ
กลับกันการให้ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คือการตอบแทนบุญคุณในอดีตกันหรือไม่
แม้อายุความคดีตากใบจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๕ ตุลาคมนี้ แต่ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” ก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบทางสังคมต่อการเสียชีวิตหมู่ ๗๘ คน
ส่วน “ทักษิณ” อย่าคิดว่าจะได้ลอยนวล
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ “ทักษิณ” เป็นผู้นำประเทศในช่วงที่มีผู้ถูกปราบปรามจนเสียชีวิตหมู่ ๗๘ คน โดยที่ “ทักษิณ” ไม่รับผิดชอบอะไรเลย
ก็ไม่แน่…อาจมีหนทางรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ในอนาคต