เปลว สีเงิน
คิดๆ มันก็แปลกนะ….
ว่ายา “เม็ดเล็กๆ” เม็ดหนึ่ง ช่วยให้คนหายไข้ก็ได้ ขณะเดียวกันมันก็ทำให้คนตายได้!
เพราะในเม็ดเล็กๆ นั้น มันประกอบด้วยสารสกัดที่เรียก “ตัวยา” ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับการใช้
อดีต…ที่เรียก “ประวัติศาสตร์” ก็เช่นกัน
มันประกอบด้วย “เรื่องราว-ตัวบุคคล-การกระทำ” ในครั้งนั้นๆ ที่รวมเรียกว่า “เหตุการณ์”
เหตุการณ์อดีต จะเป็นคุณหรือโทษ ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหมว่าศึกษา-เรียนรู้ลึกซึ้งแค่ไหน
และเมื่อศึกษา-เรียนรู้แล้ว หยิบด้านไหนของดีตไปใช้และใช้ในทางสร้างสรรค์หรือด้านทำลาย!
เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา.๑๖ ผ่านไปแล้ว ๕๑ ปี เหตุการณ์ ๖ ตุลา.๑๙ ผ่านไปแล้ว ๔๘ ปี
ถึง ๑๔ ตุลา.ที ๖ ตุลา.ที ก็มีการรำลึก
คนในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่ออยู่ถึงวันนี้ อดีตเมื่อ ๔๐-๕๐ ปี น่าจะตกผลึกเป็น “ประสบการณ์” แล้ว
และ “วัยประสบการณ์” นั้น น่าจะมีความรู้สึกต่างกับตอนอยู่ใน “วัยแสวงหา”
ส่วนคนอายุต่ำกว่า ๕๐ ปีลงมา ทั้งเพิ่งเกิดและยังไม่เกิด จะมีความรู้สึกตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆอย่างไร?
ก็ขึ้นอยู่ว่า….
ได้ศึกษาครบถ้วน-ลึกซึ้งในเหตุการณ์นั้นแล้วหรือยัง?
ถ้าศึกษารอบด้านแล้ว
ก็ไม่มีปัญหาในการกลืน “แคปซูลอดีต” ลงกระเพาะ ว่าจะเกิดโทษ
เว้นแต่รับรู้ “เฉพาะช่วง-เฉพาะตอน” ที่นัก “ตบแต่ง-ตัดทอน” ปลุกเร้าคนรุ่นใหม่เป็นเครื่องมือสู่เป้ามุ่งหมายด้วยใจอสัตย์
ฉะนั้น ๒-๓ วันนี้ เรามาศึกษาประวัติศาสตร์ ๓ ยุค ผ่านตัวละครสำคัญในแต่ละบรรทัดเหตุการณ์เพื่อตระหนักคิดว่า
ระหว่างรำลึกสู่ “สร้างสรรค์” กับรำลึกเพื่อ “ปั่นสถานการณ์”
อย่างไหน สังคมชาติ “ได้คุณค่า” ทางสร้างจิตสำนึกกว่ากัน
“คุณภิญโญ อุดมบุญญานุภาพ” ศิษย์ “อาจารย์ป๋วย”
สกัดประวัติศาสตร์ “การเมือง ๓ ยุค”
“ยุคสิ้นสุดคณะราษฎร ๒๔๗๕” สู่ยุค “กึ่งพุทธกาลทหารครองเมือง” และเริ่มยุค “ประชาธิปไตย ๑๔ ตุลา.๑๖” แทนคณะทหาร เป็นฉบับ “ไฮเปอร์ลูป” ๓ ตอนจบ เริ่มเลยนะครับ
……………………….
“คิดถึง อาจารย์ป๋วย”
โดย “ภิญโญ อุดมบุญญานุภาพ /ตอนที่ ๑”
คุยเรื่องเก่าเล่าความหลังให้พวกเราฟังก่อนจะลืมเลือน
ก่อนเพื่อนเกลอคุณอัลไซเมอร์จะมาเยี่ยมเยือนชักชวนให้ไป
ร่วมก๊วน
ผมเข้าทำงานที่ ธ.กสิกรไทย ในปี 2514 หลังจบ มธ.ปี 2513 ย้ายมาประจำที่ “สำนักถนนเสือป่า” 2526
เพื่อดูแลรับผิดชอบการนำ “ข้อมูลธนาคาร” เข้าระบบคอมพิวเตอร์ให้เต็มรูปแบบ
หลังจากเข้า “คอร์สฝึกอบรม” อย่างเข้มข้นกว่าครึ่งปี
มาอยู่ได้ไม่นาน มีลูกน้องที่ร่วมงาน มาแจ้งว่าที่สาขา
มีบัญชีของ “อาจารย์ป๋วย” และ “คุณมาร์กาเร็ต อึ๊งภากรณ์”
ใช้บริการที่นี่
จะมี “เงินบำนาญ” โอนมาจากสาขา “เสาชิงช้า” ทุกๆ เดือน ซึ่งเงินก็น้อยนิดไม่มาก เป็นหลักพัน และจะมี จม.ที่เป็น “แอร์เมลสีฟ้า” มาสอบถามยอดบัญชี
บางครั้ง ก็ให้โอนเงินผ่านศูนย์ ตป.ไป บ/ช.ที่ลอนดอน เป็นครั้งคราว
เจ้าน้องรักที่มาปรึกษารู้ว่าผมมาจากธรรมศาสตร์ “ลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย” เลยบ่นให้ฟังว่า ไม่มีใครดูแลบัญชีจริงจัง พี่จะเอาไง..?
เอางี้ น้องเบ๊..น้องไปเบิกแฟ้มปกแข็ง/ถาวร/สวยงาม แล้วโละเอกสารจากแฟ้มเน่าๆ สีเขียวตองอ่อน จัดใส่แฟ้มใหม่ให้เรียบร้อยเอามาไว้ที่พี่
พี่จะรับผิดชอบเอง…..
เรื่องก็เรียบร้อยเรื่อยมา มีการสอบถามยอดและโอนเงิน
เป็นปกติ โดยสื่อสารผ่าน จม. “แอร์เมลสีฟ้า” ที่คุณ Margaret
เซ็นชื่อ
และอาจารย์เซ็นกำกับว่า “ป๋วย” ลายมือเหมือนเด็ก
อนุบาล
ทราบว่าเขียนด้วยมือข้างซ้าย เพราะขณะนั้น อาจารย์ ป่วยเป็นอัมพาต พูดไม่ได้ มือขวาเขียนไม่ได้ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นาน
วันหนึ่ง ราวๆ ปี 2533-34 ไม่แน่ใจ…มี จม.แอร์เมลสีฟ้า
ผ่านมาจาก “กสิกรไทย สนญ.”
“คุณบัณฑูร ล่ำซำ” บันทึกผ่านผจก.ภาค 1..ถึง ผจก.สำนักถนนเสือป่า “คุณสมชาย เกิดสมเกียรติ”
เนื้อความใน จม………
“..ปั้น..ให้นำเงินในบัญชี 45,000.-บาท จ่ายเป็นแบงก์เช็ก สั่งจ่าย British Airways นำไปให้ที่บ้าน ซ.อารีย์.ด้วย”
ลงชื่อ Margaret Ungpakorn
และ”ป๋วย”เขียน/เซ็นกำกับ
เบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว “ครอบครัว อ.ป๋วย” และ “คุณบัณฑูร” ใกล้ชิดเป็นเครือญาติตระกูล “อึ้ง” ด้วยกัน
“คุณบัณฑูร” ไปเรียนไฮสกูลที่ “คิงส์มีด” ก็อยู่ในความดูแลของอาจารย์ป๋วยและภรรยา จนกระทั่งไปต่อที่ “ปริ้นซ์ตั้น” และฮาร์วาร์ด ที่อเมริกา
ดังนั้น เวลาคุณมาร์กาเร็ต จะติดต่อธนาคาร จึงจดหมายผ่านคุณบัณฑูร ทุกครั้ง
วันนั้น ผมและคนขับรถของธนาคาร ไปที่ซอยอารีย์ พหล
โยธิน ประตูบ้านสีฟ้า กดกริ่ง เด็กลูกครึ่งฝรั่งผู้หญิง มาเปิด
ผมแจ้งว่า “มาจากธนาคาร จะเอาเอกสารมาให้คุณมาร์กา
เร็ต” แล้วเด็กก็วิ่งหายไปสักครู่
กลับออกมาบอกให้นั่งรอที่โต๊ะที่ระเบียงบ้าน เป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ ระเบียงแคบๆ
เมื่อคุณมาร์กาเร็ตออกมา ผมก็แจ้งว่า “นำเอกสารการเงินมาให้ ตามที่ต้องการ ตาม จม.ที่ผ่านไปทางคุณบัณฑูร”
โดยให้ “เซ็นรับแบงก์เช็ก” ที่เรียกว่า”แคชเชียร์ออเดอร์” 45,000 บ. ที่สั่งจ่ายสายการบินและให้เขียนใบถอนเงินจากบัญชีในจำนวนเดียวกัน
ในขณะที่จะลากลับ ผมได้สังเกตุเห็นมีชายแก่ๆ ผมสีขาว
ยืนลับๆ ล่อๆ คอยดูอยู่หลังหน้าต่างบานเกร็ดหลังผ้าม่านสีขาว
เลยเอ่ยถามว่า “เป็นอาจารย์ป๋วยใช่ไหมครับ”
“ใช่”
ผมเลยบอกว่า “ผมจบจากธรรมศาสตร์ ทำงาน
ที่ธนาคารกสิกรไทย เป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย ขออนุญาต
เข้าไปกราบเท้าอาจารย์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสักครั้ง”
“คุณมาร์กาเร็ต” ได้บอกให้อาจารย์ทราบ และจัดให้นั่งบนเก้าอี้ไม้มุมห้อง ผมก็คลานเข้าไปกราบเท้า
บอกว่า “ผมจบจาก มธ.คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี”
มีช่วงหนึ่ง ที่องค์อธิการ มธ. “กรมหมื่นนราธิปฯ” ได้แต่งตั้งให้ท่านอาจารย์มารักษาการคณบดีของคณะ ตอนที่ “ศ.ดร.จรูญ
วิมลศิริ” ลาออก เพราะถูก นศ.ประท้วงขับไล่
ผมก็พูด..พูด..ไป ไม่ทราบว่าอาจารย์จะจำได้หรือรับรู้อะไรหรือไม่ รู้แต่ว่าอาจารย์ลูบหัวผมด้วยมือซ้ายที่สั่นเทา
มือขวาใช้การไม่ได้ พูดไม่ได้ เดินได้ช้าๆ ด้วยความลำบาก
ผมออกมานั่งใส่รองเท้าตรงบันได….
อาจารย์ยังมายืนดูที่ประตูบ้าน ขณะที่ผมเดินออกมา ผมหันไปดูอาจารย์เหมือนมีอะไรมาจุกที่คอ…พูดไม่ออก
ใครกันหนอ ที่มาทำกับอาจารย์ กับคนที่อุทิศตนทำงานเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศไทยถึงเพียงนี้
….ไม่อยากจะเชื่อ!
*******************
นั่งมาในรถ หลับตาถึงชีวิตและผลงานของอาจารย์เมื่อ
จบ Phd.จาก LSE-London School of Economic.
มาช่วย “คุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ” รัฐมนตรีคลัง “สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม” ในทีมดูแลเสนอแนะด้านการเงินการคลังอย่างแข็งขัน/ไฟแรง มีเหตุมีผล
ไม่ยอมเห็นผิดเป็นชอบ แล้วลู่ไปตามลม ถึงขนาด
“จอมพลป.” ต่อว่า “คุณพระบริภัณฑ์ฯ”
“ไอ้ลูกศิษย์คุณพระนี่มันจองหองจริง คำหนึ่งมันก็จะออก สองคำ มันก็จะออก”….ชื่อมันก็เป็นเจ๊ก-เป็นจีน เมื่อไหร่มันจะเปลี่ยนชื่อเป็นคนไทย”
อาจารย์ป๋วยเห็นว่า “การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์” เมื่อแบ่งปันผลประโยชน์ลงตัวการเมืองก็เรียบร้อย
ถ้าผลประโยชน์ขัดแย้ง ไม่ลงตัว นักการเมืองก็ขัดกัน!
จึงมีคติไว้ว่า…..
“คนดีๆ ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับการเมืองเพราะมีแต่เสมอตัวกับขาดทุนเท่านั้น”
“อาจารย์ป๋วย” รู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ค่อยชอบ กอร์ปกับไปเห็นแย้งการจะเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตร จาก “โทมัส เดอ ลา รู” ไปเป็นบริษัทของอเมริกา
และสั่งลงโทษและสั่งปรับ “ธนาคารพาณิชย์” ที่ทำผิด ที่ “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” และ “กลุ่มราชครู” กำลังจะเข้าเทกโอเวอร์
“อาจารย์ป๋วย” กับภรรยาเลยคิดจะลาไปเป็นอาจารย์สอนที่อังกฤษ
คุณพระฯ ทราบ …….
ไม่อยากให้ออกจากราชการ จึงส่งอาจารย์ป๋วยไปทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ” ประจำสถานทูตอังกฤษ
……………………
ครับ…จบตอน ๑ ไว้อ่านต่อ ตอน ๒ จันทร์ที่ ๑๔ ตุลา. คุณภิญโญจะรำลึกอดีตแง่มุมเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์ต่อ