11 ตุลาคม 2567 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า หนึ่งในต้นเหตุหลักของน้ำท่วมในภาคเหนือคือการเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ยังเพิ่มปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ว่าภาคเหนือจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้ความเสียหายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากขาดการเตือนภัยที่ทันท่วงทีและแผนการอพยพที่ชัดเจน สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอิทธิพลจากพายุยางิ ที่ทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลัน
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ชี้ให้เห็นว่า การทำลายป่าและพื้นที่ภูเขาเพื่อขยายเกษตรกรรมและพัฒนารีสอร์ทที่พักอาศัย ส่งผลให้พื้นที่ที่เคยช่วยดูดซับน้ำหายไป ทำให้น้ำไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วและแรง ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในเขตต้นน้ำของประเทศเมียนมา ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มและโคลนไหลตามน้ำอีกด้วย
ปัญหานี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการขยายตัวของเมืองที่ขาดการวางแผนและการก่อสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางไหลของน้ำ รวมถึงการจัดการน้ำในเขื่อนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์แนะนำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเร่งกดดันผู้ประกอบการและผู้รับซื้อข้าวโพดไม่ให้รับซื้อจากการปลูกที่รุกป่าและผ่านการเผาตอซัง รัฐบาลควรส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบแทน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่า การเกษตรแบบยั่งยืน การพัฒนาระบบชลประทานที่ดีขึ้น และการจัดผังเมืองให้สอดคล้องกับการไหลของน้ำตามธรรมชาติ หากสามารถดำเนินการได้ ปัญหาน้ำท่วมและฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงและยั่งยืน
“การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะทุกวันที่ล่าช้า ความเสียหายยิ่งทวีคูณ” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวสรุป