7 ตุลาคม 2567 นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1 – 17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำแหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆ
สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติกำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ซึ่งจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำปิง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ฝนที่ตกชุกกระจายทางตอนบนของลุ่มน้ำปิง ส่งผลให้เกิดน้ำหลากในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงมาสมทบในแม่น้ำปิ งส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ไหลเข้าท่วมพื้นที่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่เศรษฐกิจ
โดยที่สถานีวัดระดับน้ำP.1 สะพานนวรัฐอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 5 ต.ค. 67 ระดับน้ำขึ้นสูงสุด 5.30 ม.(รสม.) สูงกว่าระดับตลิ่ง +1.59 ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงลดลงอย่างต่อเนื่องแล้วซึ่งปริมาณน้ำจากลำน้ำปิงจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลทั้งหมด ทำให้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น สำหรับสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าได้อย่างเพียงพอ
ด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพลเขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 19,650 ล้านลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,221 ล้านลบ.ม.
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้บริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบนด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดพร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนกลางด้วยการหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงธรรมชาติ
ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาที่สถานีวัดระดับน้ำ C.2 อ.เมืองจ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่าในช่วง 1 – 7 วันข้างหน้าที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200 – 2,500 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาทีในช่วงนี้เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่สถานีวัดน้ำอ.บางไทรจ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,990 ลบ.ม/วินาทีหรือคิดเป็น 70% ของความจุลำน้ำ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ ที่มีระดับตลิ่งต่ำในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำกรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ ตลอดจนบูรณาการ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง พร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่า จากสถานีวัดน้ำท่า มาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้อง และเชื่อมโยงกัน ระหว่างพื้นที่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออาทิเครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำเครื่องจักร สนับสนุนอื่นๆรวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองท้องถิ่นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์