“แพทองธาร” แสดงวิสัยทัศน์ เชื่อมต่อโอกาสใหม่ให้อาเซียน ปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ-โครงสร้างคมนาคม-ลดความขัดแย้ง พัฒนาผลประโยชน์ร่วมกัน ‘สามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ’ พร้อมร่วมเวที ASEAN ที่สปป.ลาว พรุ่งนี้

7 ตุลาคม 2567  เวลา 09.30 น. ณ ห้องฉัตราบอลรูม ชั้น 2 โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand Economic Big Move” ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity โดยมีนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป หน่วยงานภาคเอกชน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีครบรอบ 37 ปีของกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งตนอายุ 38 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือยังอาวุโสน้อยในวงการการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นทำงานในทุกตำแหน่ง ทุกวงการ จะทำให้เกิดพลังและความคิดใหม่ ๆ เข้ามา พร้อมกับมีคนรุ่นก่อนที่จะสามารถซัพพอร์ตและเป็นที่ปรึกษาได้ อยากให้ประเทศไทยค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเปิดโอกาสให้กับทุกคน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้า ร่วมการประชุม ACD (Asia Cooperation Dialogue) ที่ประเทศกาตาร์ เป็นเวทีสำคัญครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พูดกับประเทศตะวันออกกลาง มีความร่วมมือหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะมีโอกาสดี ๆ ที่ส่งผลมาถึงภูมิภาคอาเซียนของเราด้วยเช่นกัน ปีนี้เป็นปีที่ 57 ปีของอาเซียน ทั้งเป้าหมายและแนวทางมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา

ช่วงก่อตั้งราวทศวรรษที่ 1960 ปัญหาความขัดแย้งและสงครามยังเป็นปัญหาหลักในภูมิภาคของเรา อาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นคง หลังจากนั้นอาเซียนมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า จนสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานมาถึงปัจจุบันและในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทย ได้พัฒนาตัวเองเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่าง APEC ก็เกิดขึ้นในยุคนั้น มาถึงวันนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ขอใช้เวทีนี้ เล่าถึงเป้าหมาย อุดมการณ์ของรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศสมาชิก ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทศวรรษต่อไปของอาเซียนทั้งหมด 4 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในวันนี้ มีมูลค่ารวมกัน สูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 119 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอีก 4-5% ต่อปี อย่างต่อเนื่องในอนาคต นับเป็นตลาดอันดับ 5 ของโลก และมีประชากรกว่า 670 ล้านคน อาเซียนจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในเวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องปลดล็อคศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยสมาชิกต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดอาเซียนมีกฎเกณฑ์การค้า การลงทุน และการเก็บภาษี สอดคล้องไปด้วยกันทั้งภูมิภาค เพื่อทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การลงทุนในประเทศสมาชิกหรือประเทศไทย จะเท่ากับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น การลงทุนประชากรไทย 66 ล้านคน เปลี่ยนเป็นการลงทุนกับประชากรอาเซียนที่มีถึง 670 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพมากกว่าหลายเท่า

ประเด็นที่ 2 อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นจุดเด่นสำคัญที่เหมาะแก่การลงทุน จุดยืนของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน รัฐบาลตั้งใจส่งเสริมการลงทุนซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน โดยยึดหลัก international law และยินดีเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้ทุกคนมาพูดคุยกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่เจรจาลดความขัดแย้งของโลก โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่จีนได้กระจายการลงทุนในประเทศอาเซียนหลายด้าน

เช่น อุตสาหกรรมด้านรถไฟฟ้าและการผลิตโซล่าเซลล์ ในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงเข้าไปตั้งกองทุนในประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน นักลงทุนจากสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ก็ให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนด้านสินค้าเทคโนโลยี ทั้งในเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และการลงทุน รวมทั้งการสร้าง Data Center ของ Google ในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงการผลิตมือถือและคอมพิวเตอร์ของ Apple อาเซียนยังมีบทบาทในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง ด้วยการใช้ไทยเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้

“อาเซียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำความสงบสุขกลับมาในประเทศเมียนมา โดยเร็วที่สุด เราจะเน้นการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ท่านอันวา อิบราฮิม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานของอาเซียนในปีหน้า รวมถึงใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรี ย้ำ

ประเด็นที่ 3 การขนส่งที่เชื่อมโยงคมนาคมประเทศต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอาเซียน ในอนาคตอาเซียนจะต้องเชื่อมต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศที่อยู่บนผืนแผ่นดินเอเชีย เชื่อมต่อให้ทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งสินค้าติดต่อกันได้สะดวก ต้องพัฒนาโครงสร้างคมนาคมร่วมกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทั้งรถไฟทางคู่ การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และแลนด์บริดจ์ ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงภาพของท่าเรือขนาดใหญ่ที่เชื่อม 2 มหาสมุทร อ่าวไทย และอันดามันเข้าด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตให้กับทุกธุรกิจ เป็นศูนย์กลางของการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก คือการส่งออกอาหารและผลผลิตการเกษตรไปทั่วโลก การมีโครงสร้างคมนาคมที่ดี รวมถึงการที่ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่เก็บคลังสินค้า (food security) โดยนำAI มาใช้ เเละมีมาตรฐานระดับโลก เพิ่มรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะพัฒนาในจุดนี้ และจะทำให้อาเซียนมั่นคงแข็งแรงทางเศรษฐกิจต่อไป

ประเด็นที่ 4 อาเซียนต้องร่วมกันทางออกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกเดือดให้ได้ เพราะภัยธรรมชาติ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นโจทย์หนึ่งของรัฐบาลที่จะเตรียมพร้อมกับประชาชน เพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด และเยียวยากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปีในการวางแผน อีกทั้งจะเร่งรัดนโยบายให้ได้ผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่ และในเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้โซล่าเซลล์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทั้งหมดนี้ จะนำไปหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน แน่นอนว่าจะพูดในภาพรวม หา common strategy ร่วมกัน และจะมีประชุมแยก เพื่อร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญในแต่ละประเทศ โดยการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 สปป.ลาว จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับ Master Plan ของ ASEAN Connectivity 2025 ที่มี 3 แกนวิธีคิดหลักคือ

1. การเชื่อมโยงทางกายภาพ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง

2. การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ มุ่งหวังที่จะปรับนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐานให้สอดคล้องกันในประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

3. การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อาทิ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้มีความสะดวกเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอนาคตอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน

“อาเซียนเราเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก รวมถึงสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับคู่ค้าทั่วโลก เป็นภาพสะท้อนแนวคิดที่ว่าการอยู่ร่วมกันโดยสามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ ASEAN together is much more than the sum of its parts” นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ

Written By
More from pp
ศรีสุวรรณแจ้ง ปอท.เอาผิด ม.112 เพจเยาวชนปมเผยแพร่ภาพหมิ่นเบื้องสูง
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 11.00 น. สมาคมฯจะเดินทางไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการฯ อาคาร...
Read More
0 replies on ““แพทองธาร” แสดงวิสัยทัศน์ เชื่อมต่อโอกาสใหม่ให้อาเซียน ปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ-โครงสร้างคมนาคม-ลดความขัดแย้ง พัฒนาผลประโยชน์ร่วมกัน ‘สามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ’ พร้อมร่วมเวที ASEAN ที่สปป.ลาว พรุ่งนี้”