ผักกาดหอม
เผื่อยังคิดกันไม่ได้
การคอร์รัปชันคือต้นตอของหายนะมากมาย
รถโดยสารคันที่ไฟไหม้ จนนักเรียนและครู ๒๓ ชีวิตต้องจบลง ก็คือหนึ่งในผลพวงของการคอร์รัปชันในวงราชการและเอกชนอันฟอนเฟะ
ใครที่ยังคิดว่าโกงไม่เป็นไร ขอให้แบ่งกัน จนเห็นเรื่องโกงเป็นเรื่องปกติ หนำซ้ำยังนับหน้าถือตาคนที่รวยจากการโกง กรุณาคิดใหม่ได้แล้ว
หากยังปล่อยให้โกงกันทุกเมื่อเชื่อวัน วันหนึ่งผลจากการโกงสามารถจะส่งผลกับทุกคน
แค่เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
สืบสาวราวเรื่องรถคันเกิดเหตุพบปมคอร์รัปชันมากมาย
กรมการขนส่งทางบกคือต้นเรื่อง
ย้อนกลับไปดูข่าวเก่าเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ “พีระพล ถาวรสุภเจริญ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบกในขณะนั้น ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตในองค์กร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๖ การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม”
วันนั้นท่านอดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ประกาศว่า…
“…กรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงมีหน้าที่ที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายและแปลงยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น ในการบริหารและการดำเนินงานตามภารกิจทุกเรื่อง จึงต้องให้ความสำคัญในการมีคุณธรรม จริยธรรม การมีวินัย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงาน
โดยที่ผ่านมาได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการเสริมสร้างวินัย คุณธรรม จริยธรรม และการป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นแนวทางให้บุคลากรทุกระดับของกรมการขนส่งทางบกปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นองค์กรธรรมาภิบาล
รวมทั้งกำหนดมาตรการภายในเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับองค์กร เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน
โดยมีแนวปฏิบัติต่อต้านคอร์รัปชัน DLT Zero Tolerance ดังนี้
๑.จะบริหารองค์กรและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม
๒.ยึดมั่นในความถูกต้องโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
๓.จะเสริมสร้างพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย
๔.จะป้องกันปราบปรามการทุจริตในองค์กร
และ ๕.จะดำเนินงานด้วยความความโปร่งใส พร้อมรับผิดชอบ และเสริมสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมที่ดีในองค์กรต่อไป
ครับ…ไม่ได้ตำหนิอะไรท่านอดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบกนะครับ เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่กรมการขนส่งทางบกประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตในองค์กร พัฒนาให้องค์กรมีความน่าเชื่อถือ
เพียงแต่สิ่งที่ท่านคิดและลงมือทำไปนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
สิ่งที่กรมการขนส่งทางบกตรวจพบและไม่พบในรถโดยสารคันเกิดเหตุคือ
มีถังแก๊สจำนวน ๑๑ ถัง พบเบื้องต้นจดทะเบียนถูกต้องเพียง ๖ ถัง ส่วนที่เหลือ ๕ ถัง ไม่อยู่ในรายการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่
ปลอมเอกสารรับรองถังแก๊ส ทำรถติดแก๊ส ใช้ถังเสื่อมคุณภาพบนท้องถนน
เจ้าของรถยืนยันผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ๒ ครั้งต่อปี ก่อนต่อภาษี
ตรวจไม่พบค้อนทุบกระจก
รถจดทะเบียนปี ๒๕๑๓ อายุ ๕๔ ปี
ทั้งหมดนี้จะเหลือเชื่อมากหากไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกให้ความร่วมมือแม้รายเดียว
การตรวจสภาพรถกับกรมการขนส่งทางบก เป็นแดนสนธยา มีการเรียกรับผลประโยชน์มานานหลายสิบปี และยังแก้ไขกันไม่ได้
ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่รถโดยสารเก่าอย่างมากคันนี้มีการดัดแปลงมากมาย ถึงผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย สามารถต่อภาษี ออกมาให้บริการลูกค้าได้
นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งแห่งการคอร์รัปชันของประเทศไทย
ด้านล่างนั้นหนักกว่าเยอะ การโกงทั้งระดับประชาชน เอกชน ราชการ และการเมือง แตกสาขาไปอีกมากมาย และไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขเลย
ข้อมูลจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ปีที่แล้ว เฉพาะกรณีฉ้อราษฎร์ เช่น แป๊ะเจี๊ยะ ส่วย ค่าวิ่งเต้นล้มคดี ฯลฯ
แบ่งเป็น สินบนและส่วยจากเศรษฐกิจนอกระบบ (Illegal Economy) หวย ซ่อง ค้าอาวุธ แรงงานเถื่อน ยาเสพติด และบ่อน ที่ประเมินว่าธุรกิจมืดเหล่านี้มีมูลค่า ๘-๑๓% ของจีดีพี ๑๗ ล้านล้านบาทต่อปี หรือราว ๑.๗ ล้านล้านบาทต่อปี หากคิดคร่าวๆ ว่ามีการจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับจากต้นทางถึงปลายทางแค่ ๕% จะเป็นเม็ดเงินมากถึง ๘.๕ หมื่นล้านบาทต่อปี
สินบนครัวเรือนหรือสินบนที่ “ชาวบ้าน” ต้องจ่ายเมื่อไปติดต่อราชการ เพื่อทำนิติกรรม จดแจ้ง หรือใช้สิทธิ์ใช้บริการตามกฎหมาย อาจเพราะโดนรีดไถหรือตั้งใจจ่ายเองเพื่อแลกกับความสะดวก เร่งเวลา ลดขั้นตอน ลดเอกสาร มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๕ พันล้านบาทต่อปี
เช่น ที่ดิน อำเภอ อบต. เทศบาล โรงพัก ศุลกากร สรรพากร โรงเรียน ฯลฯ เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงคงสูงกว่านี้มาก แต่ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจอาจปิดบัง เนื่องจากเกรงกลัวอันตรายหากเปิดเผย ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงกรณีภาคธุรกิจอุตสาหกรรม “ไปติดต่อ” เจ้าหน้าที่
สินบนและส่วยจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายเพื่อความอยู่รอดหรือความได้เปรียบ ทั้งที่จ่ายโดยผู้ทำมาหากินสุจริตและไม่สุจริต เช่น ส่วยรถบรรทุก รถตู้ รถทัวร์ สถานบันเทิง
สินบนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตอนุมัติจากราชการ เช่น ต่อเติม-สร้างบ้าน เปิดธุรกิจร้านค้า โรงงาน สถานบันเทิง โรงแรม อพาร์ตเมนต์ ซูเปอร์มาร์เก็ต การส่งออก-นำเข้าสินค้า ฯลฯ
ค่ามองไม่เห็น ตรวจไม่เจอ เป็นสินบนที่ประชาชนต้องจ่ายเมื่อเผชิญกับเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ราชการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้จ่ายกระทำผิดจริงและโดนกลั่นแกล้ง เช่น การจ่ายให้กับตำรวจจราจร เทศกิจ นายจ้างหรือแรงงานต่างด้าวต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่แรงงานหรือตำรวจ
เงินบาปประเภทนี้รวมกันมากกว่า ๑ แสนล้านบาท
หากรวมทั้งหมดเงินบาปจากคอร์รัปชันในภาครัฐราว ๕ แสนล้านบาทต่อปี
ผลของการคอร์รัปชัน นอกจากสูญเสียงบประมาณแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ตามมามากมาย เช่น กรณีรถโดยสารไฟไหม้ครั้งนี้
ฉะนั้นหากรัฐบาลจะแก้ปัญหาจริงๆ นอกจากบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว ต้องเริ่มที่การคอร์รัปชันด้วย
แต่นอกจากเสียน้ำตาแล้ว ยังไม่มีใครในรัฐบาลพูดถึงรากเหง้าของปัญหาเลย
หากรัฐบาลแพทองธารไม่ซื่อสัตย์สุจริตให้ประชาชน เอกชน ข้าราชการได้ประจักษ์ คงยากครับที่ปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข