ผักกาดหอม
จบข่าวครับ…
เป็นอันว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลวลง อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ระยะยาวรัฐธรรมนูญที่ขวางทางนักการเมืองแบบนี้เขาไม่เอาไว้หรอกครับ
วันหนึ่งต้องรวมหัวแก้กันอยู่ดี แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ประชาชนเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับว่า จะยอมให้เขาฉีกทิ้งหรือเปล่า
แม้จะถอยชั่วคราว แต่แนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพรรคส้ม หากไม่มีการปรับปรุง ก็น่ากังวลอยู่ดี
โดยเฉพาะพรรคส้ม มีทัศนคติที่อันตรายต่อการเมืองการปกครองอย่างมาก
เพราะไม่ได้คิดแก้ปัญหา แต่จะสร้างปัญหาเพิ่ม
เนื้อหามาจากการแถลงข่าวของ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ที่ “ป๋าเปลว” ไล่กลับบ้าน อาบน้ำ ประแป้ง แล้วกินนมนอน นั่นแหละครับ
เป็นการนำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แบ่งชุดประเด็นออกเป็น ๗ แพ็กเกจ แต่จะขอพูดถึงเฉพาะบางแพ็กเกจ เช่น…
แพ็กเกจที่ ๑ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ซึ่งได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ประกอบด้วยสาระสำคัญ อาทิ…
ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ฉบับ คสช.
ความหมายกว้างๆ ของยุทธศาสต์ชาติคือ เพื่อให้มีแผนการพัฒนาประเทศโดยกำหนดกรอบเวลาและแนวทางพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล
และเป็นกรอบในการจัดทำแผนของหน่วยงานต่างๆ ในการบริหารประเทศให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีการบูรณาการกัน
ยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของชาติ และแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ที่ประชาชนทุกภาคส่วนและรัฐเห็นพ้องร่วมกัน และร่วมมือกันเพื่อเป็นพลังในการช่วยกันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาว โดยมีตัวชี้วัดผลความคืบหน้าในการดำเนินการและความสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นสากล
การจัดทำ เปลี่ยนแปลง ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงด้วย
ความหมายของยุทธศาสตร์ชาติคือแบบนี้ แต่ทำไมนักการเมืองถึงรังเกียจอยากจะลบทิ้งกันหนักหนา
เราผ่านการพัฒนาประเทศที่แต่ละรัฐบาลไปคนละทางมาแล้วไม่ใช่หรือ
บ่นกันเรื่องประเทศพัฒนาช้าเพราะไม่มีความต่อเนื่องในแง่นโยบายไม่ใช่หรือ
แล้วทำไมถึงอยากกลับไปหาแบบเดิม
ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้มัดคอรัฐบาล แต่เป็นแนวทางให้ทุกรัฐบาลเดินไปโดยมีความต่อเนื่องกัน
เว้นเสียว่าพรรคส้มจะอยู่ในอำนาจยาวนานสัก ๒๐ ปี แบบนั้นใช้ยุทธศาสตร์ส้มก็ได้ แต่ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ไอติมจะรับผิดชอบไหวหรือเปล่า เอาไว้ตื่นจากฝันแล้วค่อยมาว่ากัน
แพ็กเกจที่ ๒ “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ”
นี่คือแพ็กเกจแห่งความคับแค้น และอยากล้างแค้น
พรรคส้มมีความปรารถนาให้ องค์กรอิสระเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม
เสนอให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีจริยธรรม
ถุย!
ให้สภาผู้แทนฯ กับรัฐบาล ออกจริยธรรมขององค์กรตนเอง หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร
ประเทศนี้ไม่รู้มีจริยธรรมกี่มาตรฐาน
ฝ่ายนิติบัญญัติมาตรฐานหนึ่ง
ฝ่ายบริหารมาตรฐานหนึ่ง
ฝ่ายตุลาการมีอีกมาตรฐาน
ข้าราชการพลเรือนก็อีกมาตรฐาน
ตำรวจ-ทหาร มีมาตรฐานของตนเอง
นี่เราพูดถึงมาตรฐานทางจริยธรรมนะครับ
ไม่ใช่เครื่องแบบ
ก็ไม่ทราบว่าใช้อวัยวะส่วนไหนคิด
ลองไปดู แพ็กเกจที่ ๓ “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” สิครับ แล้วจะเห็นถึงความสับสนทางความคิด
พรรคส้มเสนอว่า ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๓๖ ระบุว่า หากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน ๒๐,๐๐๐ คนเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนต่อประธานรัฐสภาว่า ป.ป.ช.ใช้อำนาจโดยมิชอบ ประธานรัฐสภามีสิทธิในการใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองก่อนว่าควรดำเนินการให้มีการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลและ ป.ป.ช.สมคบคิดกันเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ประธานรัฐสภาซึ่งมักเป็น สส.จากฝั่งรัฐบาล ก็สามารถใช้อำนาจปัดตกทุกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ได้
จึงเสนอเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ๒๐,๐๐๐ คน เข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ป.ป.ช.จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน ๑๘๐ วัน
อยู่ใกล้ๆ จะดีดหู “ไอติม” สักที
ก็ในเมื่อ “ไอติม” เสนอว่าให้ รัฐบาล สภาฯ ไปออกจริยธรรมของตัวเอง แต่ “ไอติม” ดันกลัวว่า ประธานรัฐสภาจะสมคบคิดกับรัฐบาล ปิดปากประชาชน
มันโคตรจะย้อนแย้ง
“ไอติม” ฟังไว้นะครับ ประชาชนเขาไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐสภา ตั้งแต่ให้ไปออกมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเองแล้ว
จะไว้ใจได้ไง ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะสร้างบรรทัดฐานไว้ให้หยกๆ ก็คิดจะลบทิ้งแล้ว
แพ็กเกจที่ ๔ ไม่หยิบยกมาไม่ได้เลย คือประเด็น “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน”
เห็นด้วยเลยครับที่พรรคส้มต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการศึกษา
สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
เสรีภาพในการแสดงออก
สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
โดยเฉพาะสิทธิความเสมอภาคทางเพศ พรรคประชาชนเสนอให้รัฐธรรมนูญรับประกันความเสมอภาคทางเพศภายใต้ความหลากหลายทางเพศ โดยปรับข้อความจาก “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” มาเป็น “บุคคลทุกคน ไม่ว่าเพศ เพศสภาพ เพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศใด มีสิทธิเท่าเทียมกัน”
เห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ครับ เพราะที่ผ่านมามีกรณีคุกคามทางเพศในพรรคการเมืองกันเยอะ
พรรคส้มเองก็มีประสบการณ์เรื่องนี้มาอย่างโชกโชน
แต่ก็แอบผิดหวังตรงที่ พอมีเรื่องฉาวในพรรคตัวเอง ก็เลือกที่จะเงียบ
กว่า “ไอติม” จะง้างปากตัวเองชี้แจงได้ ก็ไม่มีใครอยากฟังแล้ว
ครับ…หากพรรคส้มจะเพิ่มเติมอีกสักแพ็กเกจก็คงจะดีไม่น้อย
เวลาคิดให้ใช้สมองและใจคิด