ฉายาในตำนาน – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

หยุดก่อนครับ…

อย่าเพิ่งด่า “วิษณุ เครืองาม”

นี่ถือเป็นการชิงไหวชิงพริบครับ

นายกฯ เศรษฐาเตรียมจะเซ็นคำสั่งตั้ง อาจารย์วิษณุ เป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่นอน

แต่ก็ไม่ลี้ลับอะไร เพราะไทม์ไลน์มันเห็นอยู่ นักกฎหมายที่รัฐบาลมีอยู่ มือไม่ถึง พลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนต้องเชิญ “เนติบริกร” มาช่วยงาน

งานนี้ไม่ใช่ความคิดนายกฯ เศรษฐาเช่นเคย

แต่เป็นความอยากของ “นักโทษชายทักษิณ” ครับ

การกลับมาของ “วิษณุ เครืองาม” รอบนี้ เจ้าตัวยืนยันว่าไม่มีอะไรหวือหวา ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ไม่มีอัตราเงินเดือน หรือต้องแสดงบัญชีหนี้สินทรัพย์สินอะไร

ไม่เหมือนตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ

จะเชื่อหรือไม่ก็ว่ากันไป แต่การเชิญระดับปรมาจารย์กฎหมายมานั่งเป็นที่ปรึกษา สลค. คงไม่ให้มาทำหน้าที่เก็บหนังสือเข้าชั้นแต่อย่างใด

เพราะ “วิษณุ เครืองาม” สามารถทำในสิ่งที่ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย รวมทั้งทีมกฎหมายของรัฐบาลทำไม่ได้

แต่…ไม่ว่า จะกลับเข้ามาทำหน้าที่อะไร ตำแหน่งอะไร อย่าไปด่า หรือแสดงความไม่พอใจ ในตัวอาจารย์วิษณุเลยครับ

อย่าไปวิจารณ์ว่าเป็นการทรยศ “ลุงตู่” เด็ดขาด

เพราะเท่ากับไม่รู้เรื่องการเมืองจริง

ในข้อเท็จจริง อาจารย์วิษณุ โด่งดังเป็นพลุแตกก็ตอนทำงานให้รัฐบาลไทยรักไทย

ฉายา “เนติบริกร” ได้มาเมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ ปี ๒๕๔๕ ปีนั้น “นักโทษชายทักษิณ” ได้ฉายา นายกฯ เทวดา

ก็ช่างบังเอิญจริงๆ ๒๒ ปีให้หลัง กลายเป็นนักโทษเทวดา

แล้วจำได้หรือเปล่า เมื่อเริ่มตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการเชิญ “วิษณุ เครืองาม” มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลกฎหมายของรัฐบาล และบรรดาคำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ช่วงนั้นด่ากันขรม

เอาคนของระบอบทักษิณมาทำไม

ไม่กลัวถูกล้วงตับหรือ

ก็สภาพเดียวกันกับวันนี้ครับ

เพราะมีคนเชื่อว่า อาจารย์วิษณุ เป็นคนของรัฐบาลลุงตู่ จึงไม่อยากให้ไปเกลือกกลั้วกับรัฐบาลระบอบทักษิณ

ก่อนแต่งกับ “ลุงตู่” แต่งกับ “ทักษิณ” มาก่อนแล้ว

วันนี้กลับไปอยู่กับคนเก่า

ถ้าเป็นละครหลังข่าว ก็น้ำเน่าสนิท

แต่นี่เป็นการเมือง ที่โยงใยซับซ้อน

ฉะนั้นหากจะด่าอาจารย์วิษณุ ก็ลองกลับไปดูตอนที่ด่าไว้เมื่อปี ๒๕๕๗ แล้วจะถึงบางอ้อว่า ขืนด่าไปก็เท่านั้น

ไม่ด่าเลยจะดีกว่ามั้ย

หรือต้องใช้ศิลปะในการด่าให้ถูกที่ถูกเวลา

จากฉายา “เนติบริกร” ในรัฐบาลระบอบทักษิณ ถือเป็นฉายาในตำนาน ถัดมา “อาจารย์วิษณุ” ยังได้ฉายาในฐานะผู้แตกฉานกฎหมายอีกหลายฉายา โดยเฉพาะในรัฐบาลลุงตู่

ปี ๒๕๖๒ “ศรีธนญชัยลอดช่อง”

ปี ๒๕๖๓ “ไฮเตอร์ เซอร์วิส”

และปี ๒๕๖๕ “เครื่องจักรซักล้าง”

นี่จึงเป็นเครื่องการันตีให้ “นักโทษชายทักษิณ” เรียกตัว “อาจารย์วิษณุ” กลับมาทำงานอีกครั้ง

แล้วเป็นงานอะไร?

ตรงนี้แหละครับที่ผู้คนเขาสงสัย!

จะมาช่วย นายกฯ เศรษฐาให้พ้นเขียงศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

ช่วยพา “นักโทษหญิงยิ่งลักษณ์” กลับบ้านแบบไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว หรือเปล่า เพราะทางสีส้มเขาตั้งข้อสังเกตกันแล้ว

ด้วยจังหวะ เงื่อนเวลา หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่รัฐบาลมีปัญหาทางกฎหมายหลายเรื่อง หลายประเด็น การมาของ อาจารย์วิษณุ จึงแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากมาช่วยหาทางออก

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะทีมกฎหมายรัฐบาลอ่อนเกินไป ไม่มีความมั่นใจ การนำเสนอที่มาของเงินกว่า ๕ แสนล้านบาท จึงมีปัญหาในข้อกฎหมายมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน

ล่าสุดใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน และเงินของ ธ.ก.ส.

ล้วนถูกท้วงติงในข้อกฎหมายทั้งสิ้น

จนทุกวันนี้ประชาชนแทบจะไม่เชื่อแล้วว่านโยบายนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

เพราะความไม่แตกฉานในข้อกฎหมาย ความน่าเชื่อถือในตัวรัฐบาลจึงสาละวันเตี้ยลง

ฉะนั้น เป็นอื่นไปไม่ได้ “อาจารย์วิษณุ” จะเข้ามาดูงานด้านกฎหมายทั้งหมด โดยช่วงเวลานี้ยังไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล

แต่อนาคตไม่มีใครรู้ได้

ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นถามอีกทีว่า “อาจารย์วิษณุ” จะดูแค่งานเหล่านี้จริงหรือ

คงไม่หรอกครับ!

รัฐบาลยังมีปัญหาทางข้อกฎหมายอีกเยอะ

เอาแค่สถานะของ “ทักษิณ” หลังพ้นจากความเป็นนักโทษไปแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง

แค่นี้ก็ขนลุกแล้ว!

“นักโทษชายทักษิณ” ไม่ได้ประสงค์อยู่บ้านเลี้ยงหลานนะครับ

เท่าที่เห็นตอนนี้ เปิดฟาร์มแกะ กับโรงน้ำแข็ง ไปแล้วหลายที่

บทบาท “นายทักษิณ” หลังเดือนสิงหาคม จึงอาจต้องพึ่งพาความชัดเจนทางกฎหมาย ทั้งในนามส่วนตัว และในนามผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล

สำคัญไปกว่านั้น การใช้กฎหมายเพื่อขยายฐานอำนาจ ปกป้องเครือข่าย รักษาผลประโยชน์ ที่ “นักโทษชายทักษิณ” เคยทำมาแล้วในอดีต จะมีการทำซ้ำหรือไม่

มาถึงบรรทัดนี้ใครจะด่าว่า “อาจารย์วิษณุ” ก็คงพอจะทราบบ้างแล้วว่า จะต้องด่าอย่างไรให้ถูกต้อง และเหมาะสม

นี่คือ “เนติบริกร”

Written By
More from pp
เกษียณแล้วไป (อยู่) ไหนดี?
ในแต่ละปี ไทยจะมีข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุตามปีงบประมาณจำนวนถึงหลักหมื่นคน โดยข้อมูลข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 117,652 คน (เฉลี่ยปีละ 11,765 คน) หากโฟกัสในปี พ.ศ. 2561-2563 จะมีผู้เกษียณอายุจำนวน 8,539 คน 10,068 คน และ 11,017 คน ตามลำดับ  การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรเข้าสู่วัยเกษียณดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อสภาพเศรษกิจโดยรวม...
Read More
0 replies on “ฉายาในตำนาน – ผักกาดหอม”