สภาฯ จะไปทั้งยวง #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ระวังจะพังทั้งสภาฯ

เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ

เป็นที่ชัดเจนชนิดไม่แคร์ใคร พรรคเพื่อไทย เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งสิ้น ๖ ประเด็น ประกอบด้วย

๑.แก้ไข (๗) ของมาตรา ๙๘ ซึ่งปัจจุบันกำหนดห้ามผู้ที่เคยรับโทษจำคุกโดยพ้นโทษยังไม่ถึง ๑๐ ปี สมัคร สส. หรือเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

แก้ไขเป็นให้รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

๒.แก้ไข (๔) และ (๕) ของมาตรา ๑๖๐ คุณสมบัติรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน (๔) กำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

แก้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต”

และให้ถือการกระทำดังกล่าวนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้

ส่วน (๕) เรื่องจริยธรรมแก้ให้ชัดเจนว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

โดย (๗) คนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษซึ่งปัจจุบันห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น แก้เป็น ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๐ แทน

๓.เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญให้นำไปใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย

จึงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน โดยแก้ไข ม.๒๐๑, ม.๒๐๒, ม.๒๒๒, ม.๒๒๘, ม.๒๓๒, ม.๒๓๘ และ ม.๒๔๖

๔.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องมติและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ปัจจุบันคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก

แก้ไขเป็นถ้าเป็นการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๔ ให้ใช้เสียง ๒ ใน ๓ ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

๕.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๓๕ กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า มีความผิดคดีอาญา ร่ำรวยผิดปกติ หรือ ศาลฎีกาพิพากษาว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยปัจจุบันให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน ๑๐ ปี

จึงมีการแก้ไขเป็น “ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด ๕ ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง”

๖.แก้ไขหมวด ๑๕ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา ๒๕๕ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้

โดยแก้ไข (๘) ของมาตรา ๒๕๖ เดิมกำหนดว่าการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนนั้น

ได้แก้ไขเป็น เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจัดทำประชามติ

ครับ…ทั้ง ๖ ประเด็น อาจทำให้ต้องเลือกตั้งกันใหม่ในเร็วๆ นี้

รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้

แต่ไม่ใช่จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ตามใจ

๒ ประเด็นนี้ต้องแยกออกจากกันนะครับ

ไม่งั้นจะเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ เพราะนักการเมืองคิดเพียงแค่รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ แล้วรวมหัวกันยำเละตุ้มเป๊ะ

ไปส่วนที่ ๔ ของรัฐธรรมนูญ บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง เริ่มต้นมานักการเมืองก็ควรตีความหมายให้แตกเสียก่อน

มาตรา ๑๑๔ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

มาตรา ๑๑๕ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

๒ มาตรานี้ อาจมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า สส.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๖ ประเด็นข้างต้น ได้กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะประเด็นที่แก้ไขนั้น ล้วนขัดกันแห่งผลประโยชน์ทั้งสิ้น

อีกทั้งยังขัดกับคำปฏิญาณตนว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ทุกมาตรา แต่ไม่ใช่แก้อย่างไรก็ได้ตามใจ

๖ ประเด็นล้วนเป็นการแก้ให้เลวลง และเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น

ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะสร้างบรรทัดฐาน คุณสมบัติรัฐมนตรี จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรม

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ฉีกทิ้งไปอย่างไม่ไยดี

ถ้อยความ “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต”

คือ…ตราบใดที่ไม่มีคำสั่งศาล หรือคำพิพากษาของศาล ก็ยังถือว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต

หากพรรคเพื่อไทยแก้ไขก่อนหน้านี้ “เศรษฐา ทวีสิน” รอด

ฉะนั้นผลการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะทำให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องพะวงว่าจะหลุดออกจากตำแหน่ง

ที่น่ากังวลคือ การแก้ไขคุณสมบัติรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย จะลามไปยังการตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะล้วนใช้คุณสมบัติเดียวกัน จึงต้องแก้ไขพ่วงไปหมด

ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นครับ

ประเทศที่ละทิ้งความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลวลง ประเทศนั้นไม่มีทางเจริญได้

เพราะคนโกงจะเข้าสู่อำนาจได้ง่ายขึ้น

Written By
More from pp
รวยแล้วต้องโง่ด้วย???
คอลัมน์ผสมโรง สันต์ สะตอแมน คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์.. ผมเชื่อ ท่านไม่เคยไปนั่งดื่ม-นั่งกินกับ “สาวพริตตี้”ที่ไหน เพราะนอกจากเป็นนักการเมืองสะอาด บริสุทธิ์ผุดผ่องแล้ว.. กับสังคม...
Read More
0 replies on “สภาฯ จะไปทั้งยวง #ผักกาดหอม”