ผักกาดหอม
ว่องไวเชียว…
วันที่ ๑ ตุลาคมนี้ รัฐบาลเขาจะสุมหัวแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้วครับ
“บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม” จะนั่งหัวโต๊ะ เรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาถามว่าจะเอาไงใน ๒ ประเด็น
๑.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนนำเสนอในขณะนี้ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไร
๒.จะหารือเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือความคืบหน้าในเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น มีการทำเรื่องประชามติไปถึงไหนแล้ว จะเริ่มทำได้เมื่อไหร่ และจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖ ได้เมื่อไหร่
หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดโอเค ก็จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อน
ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีมาตราไหนเปิดทางให้ทำได้ จึงต้องแก้ไข ม.๒๕๖ เสียก่อน
เปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
ตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชูนโยบาย จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระต้องมีความเป็นอิสระ มีการคานอำนาจและมีความโปร่งใส
ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน
เขียนนโยบายไว้สวยหรูครับ
แล้วพรรคเพื่อไทยปฏิบัติอย่างไร
วานนี้ (๒๓ กันยายน) “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เนติบริกร หมายเลขสอง บอกถึงสาเหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างชัดแจ้ง
เต็มสองรูหู
“…เราไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เพียงแต่ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนว่า ต้องนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่
ทุกคนคงทราบดีว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าถ้าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องไปถามกับตรงนั้นตรงนี้ วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้
เราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงแต่ทำกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรฐาน ว่าจะชี้จะวัดอย่างไร…”
ตรงไหนที่บอกว่า ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน
ไม่ทราบว่าตรรกะเดียวกับ “สุทิน คลังแสง” ที่พูดก่อนหน้าหรือเปล่า
“…การมองรัฐธรรมนูญต้องมองเป็นหลายชั้น คืออาจจะมองว่าเป็นประโยชน์กับนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองเข้มแข็งหรือมีอำนาจยึดโยงกับประชาชน และสามารถใช้อำนาจนั้นทำงานสนองต่อเจตนารมย์ของประชาชนได้ และนั่นคือประโยชน์ของประชาชน
ก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอเพื่อทำให้พี่น้อง…”
พับผ่าสิ!
คำพูด “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อปี ๒๕๔๘ มันโผล่ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
“…ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง…”
แล้วจะให้มองไงครับ
พรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือ
ดูจาก ๖ ประเด็นที่กล่าวถึงไปวานนี้ แก้เพื่อตัวเองทั้งนั้น
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก็แอ่นอกรับอย่างภาคภูมิ รัฐธรรมนูญสร้างปัญหาวุ่นวายกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เพราะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน
ฉะนั้นต้องแก้ให้ชัดว่าจะนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่
แนวคิดแบบนี้เดาไม่ยากครับว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขออกมาหน้าตาเป็นเช่นไร
เมื่อพรรคเพื่อไทย ให้ระบุความซื่อสัตย์สุจริต เป็นช่วงเวลา ก็จบเห่ครับ
มันเหมือน “ชูศักดิ์” รับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง หากจะให้รางวัลอาจารย์ผู้ทรงคุณค่าจะต้องดูจากอะไรอย่างไร
ดูความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานตลอดระยะเวลาที่เป็นอาจารย์
หรือดูแค่บางช่วงเวลา
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ใกล้ๆ จะพิจารณารางวัล
ความซื่อสัตย์สุจริตมันต้องมีมาโดยสันดานครับ
ไม่ใช่มาตามผลประโยชน์ที่รออยู่ข้างหน้า
การเป็นนักการเมืองน้ำดี มันต้องติดตัวมาตลอดชีวิต
ไม่ใช่ก่อนมาเล่นการเมือง ทำเลว ทำชั่ว มาตลอด พอจะเข้าสู่การเมืองก็บอกว่า ล้างมือหมดแล้ว ความชั่วหายไปหมดแล้ว หลังจากนี้จะทำแต่ความดี
มันเชื่อได้หรือครับ
ก็ไม่ทราบว่าคิดกันได้อย่างไร นักการเมืองต้องมีพลังก่อน จากนั้นประชาชนก็จะได้ประโยชน์
การทำให้นักการเมืองมีพลังคือ ตัดแขนตัดขาองค์กรอิสระ ที่อ้างว่ามีอำนาจมากเกินไป
การฉีกบรรทัดฐานความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมา นี่คือการทำให้นักการเมืองมีพลังอย่างนั้นหรือ
พลังอะไร?
สมัยรัฐบาลไทยรักไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียว วันนั้นมีพลังหรือเปล่า
แล้วทำอะไรเอาไว้บ้าง
วันนี้มันชัดเจนจนไม่มีอะไรจะชัดไปมากกว่านี้อีกแล้ว
พรรคเพื่อไทยกำลังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง
ต้องการใช้อำนาจอย่างคล่องคอ
“ทักษิณ” กาหัวองค์กรอิสระมานานแล้ว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ตั้งแต่คดีซุกหุ้นภาค ๑ เมื่อปี ๒๕๔๔
วันนี้จึงสุกงอมไม่ต่างแค้นต้องชำระ