สันต์ สะตอแมน
จากฉากลิเกสู่ศิลปินชายขอบ..
1.ฉากลิเก
แม่เป็นแม่บ้านในสังคมไทยดั้งเดิม ไม่มีการศึกษาแต่อ่านออกเขียนได้ แม่ต้องรับผิดชอบงานบ้าน งานเลี้ยงดูลูก แม่ไม่เคยวาดรูป เล่นดนตรี จำไม่ได้ว่าเคยได้ยินแม่ร้องเพลงหรือไม่
สิ่งบันเทิงในชีวิตแม่คือละครวิทยุนิยายน้ำเน่า Soap Opera ของคณะแก้วฟ้า คณะของวิเชียร นีลิกานนท์ คณะประดิษฐ์กัลจาฤกษ์
พ่อเป็นผู้ชายไทยในแบบสังคมไทยดั้งเดิม บวชเรียนเป็นพระที่เทศน์เก่ง แต่ชอบสะสมพระเครื่อง เล่นนกเขา สะสมบอนสี ชอบเล่นพิณพาทย์ และมีงานอดิเรกเป็นโต้โผลิเก
เมื่อผมอายุได้ประมาณ 10-11 ขวบ ช่างเขียนฉากลิเกของพ่อ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นนายสิบ มาวาดฉากท้องพระโรงลิเกที่สโมสรทหารใกล้ๆ บ้าน
ผมไปดูด้วยความทึ่งที่เห็นช่างเขียนคนนั้น ทำฉากผ้าแบนๆ ให้ดูเป็นทิวต้นไม้ลึกไปไกลได้ เสาท้องพระโรงก็ดูกลมเหมือนจริง
ผมขอช่างเขียนท่านนั้นลองเขียนต้นไม้กับเสาท้องพระโรง ก็ดูเป็นต้นไม้เป็นเสากลมดีเหมือนกัน พ่อผมให้สตางค์ค่าเขียนมา 10 บาท
จากนั้นผมก็มีชื่อเสียงเลื่องลือในแถบบ้านว่าเขียนรูปเก่ง มีร้านตัดผม ร้านขายข้าวแกง มาขอให้ผมเขียนป้ายราคากับภาพประกอบ ได้เงินมารายละ 10-15 บาท ซึ่งก็ตื่นเต้นมากสำหรับวัยเด็กสมัยนั้น
ด้วยความที่เกิดมามีฐานะยากจน ผมเคยคิดจะเลิกเรียนแล้วไปเขียนการ์ตูนขาย เพราะชอบงานการ์ตูนของ จุก เบี้ยวสกุล ในชุดเจ้าชายผมทอง และราช เลอสรวง ในชุดสิงห์ดำ
ทดลองทำดูแล้วสรุปกับตัวเองว่ายังไม่ถึงขั้น เพราะไม่ได้ร่ำเรียนเรื่อง anatomy มา
พอมาอยู่สวนกุหลาบ ครูจำนงซึ่งสอนศิลปะมีชื่อเสียงในหมู่นักเรียนสวนกุหลาบทุกคนด้วยคำขวัญ “สีชุ่มๆ น้ำโชกๆ ใจกล้าๆ” และความมีอคติรักเด็กที่ทำงานศิลปะได้ดีของแก
ผมเองเป็นหนึ่งในเด็กจำนวนนั้นจนเล่ากันว่าครูจำนงเถียงกับครูสายวิทยาศาสตร์ เพราะครูจำนงยุให้ผมเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างติดกับสวนกุหลาบ
ส่วนครูสายวิทยาศาสตร์ต้องการให้ผมเรียนต่อ มศ. 4-5 สายวิทย์ เพื่อติดบอร์ดนักเรียนเรียนดีทำชื่อเสียงให้โรงเรียน ผมเลือกเรียนทางสายวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังรักการวาดรูปอยู่ตลอดมา
ได้วาดรูปตอนเข้าไปร่วมปฏิวัติในป่าอยู่บ้าง และได้วาดรูปตอนไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ จึงถือได้ว่าฉากลิเกเป็นจุดเริ่มต้นความเป็นศิลปินชายขอบของผม
ในช่วงอยู่มัธยมผมเริ่มได้ยินชื่อเสียงของถวัลย์ ดัชนี อังคาร กัลยาณพงศ์ เริ่มได้ยินการถกเถียงเรื่องศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะแนวแอ็บสแตร็กต์ ได้ไปดูงานแสดงบ้างแต่ไม่ซึมซับ
ที่มีอิทธิพลต่อผมดูจะเป็นภาพปกนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนโดยครูเหม เวชกร ด้วยสีน้ำสกุลนีโอคลาสสิก ซึ่งสีอิ่มฉ่ำทุกรูป
อีกคนที่ผมชอบคือเปี๊ยก โปสเตอร์ ที่เขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์หลายโรง โดยเฉพาะที่เฉลิมไทย ผมมหัศจรรย์ในความเหมือนจริง และการจัดวางองค์ประกอบที่ดูเก๋ไก๋มากในยุคนั้น
สาเหตุสำคัญที่ผมชอบศิลปิน 2 ท่านนี้ ก็เพราะในช่วงต้นผมมองศิลปะอยู่กับชีวิต อยู่กับการทำมาหากิน มากกว่าจะมองเป็นพลังสร้างสรรค์ในชีวิตมนุษย์
เกิดคำถามสำคัญว่า ฉากลิเกเป็นงานศิลปะหรือไม่ ผ้าทอมือ เครื่องเงินทอง งานแกะไม้ เป็นงานศิลปะหรือไม่
มีช่วงหนึ่งที่เราจำกัดว่าศิลปะเป็น High Arts, High Culture เช่น Opera วงซิมโฟนี ภาพเขียนของศิลปินมีชื่อ สถาปัตยกรรมของวัง วัด ของไทยก็อาจจะมีโขน ละคอนใน
แต่อีกช่วงเรามองวัฒนธรรม ศิลปะเป็นสิ่งธรรมดาๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เคยเป็นของต่ำ เป็นแค่งานฝีมือหัตถกรรม งานช่างที่หาเช้ากินค่ำ ก็ได้รับการยกย่องสูงขึ้น จนบางอย่างกลายเป็นศิลปะ
มีคำถามสำคัญตามมาคือ ทุกอย่างที่คนทำให้สวยงามเป็นศิลปะ? ทุกคนเป็นศิลปิน?
ครับ..มีอีกหลายฉากที่อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ร่าย แต่แค่ “ฉากลิเก” ก็ทำเอาคนรักในงานศิลปะต่างใจจด-ใจจ่อ รอที่จะให้ถึงวันที่ 22 สิงหา..
ซึ่งเป็นวันเปิดงานแสดงภาพศิลป์ สีพาสเทล และสีน้ำ “บนเส้นทางศิลปะ” ของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี โดยอดีตนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้กล่าวเปิดงานในเวลา 18.30 น.
และก่อนหน้าตั้งแต่เวลา 17.00 น. อาจารย์ธีรยุทธจะมานั่งคุย-นั่งตอบข้อซักถามเรื่องราว “บนเส้นทางศิลปะ” กับคุณสุภาพ คลี่ขจาย ให้ได้ฟังกัน
จากนั้นเข้าสู่ช่วง “เพลงกวี” ที่มีคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณหงา คาราบาว คุณชูเกียรติ ฉาไธสง ร่วมรายการ โดยคุณประสาร มฤคพิทักษ์ ดำเนินรายการ ไปจนถึงเวลา 20.00 น.
ก็..ขอเชิญชวนเพื่อนมิตรทุกท่านทุกวงการของอาจารย์ธีรยุทธ งานแสดงจะมีตั้งแต่วันที่ 22 สิงหา.ไปจนถึงวันที่ 1 กันยา.2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ห้องชั้น 3 หอศิลป์ กทม. แยกปทุมวัน..
ไปเสพงาน “ศิลปินชายขอบ” กันเถอะ!.